กรุงเทพฯ 19 ก.พ. – หอการค้าไทยพบรัฐมนตรีอุตฯ ขับเคลื่อนโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน ส่งเสริม Circular Economy
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการนำคณะกรรมการเข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอมุมมองข้อเสนอของภาคเอกชนต่อการผลักดันเศรษฐกิจของประทศ โดยมีข้อเสนอ คือ 1.เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการอากาศสะอาด ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและพัฒนา ระบบการจัดการอากาศของประเทศ โดยมีกลไกรับผิดชอบลงไปในระดับพื้นที่ของแหล่งมลพิษทางอากาศ ระหว่างไม่มีกฎหมายการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดบังคับใช้ ซึ่งกระทรวงฯ เห็นด้วยและจะสนับสนุนตามขั้นตอนต่อไป
2.จัดทำบันทึกลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยและสถาบันอาหาร เพื่อส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารด้วยนวัตกรรม และเพิ่มความร่วมมือ ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและหอการค้าไทยขับเคลื่อนโครงการสร้างปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม (AGRO GENIUS ACADEMY) ร่วมกับโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน เพื่อพัฒนาและสร้างต้นแบบของผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและต่อยอดในเชิงพาณิชย์สู่ตลาดสากล ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แจ้งว่าได้มีความร่วมมือกับหอการค้าอยู่แล้วเป็นระยะ ๆ และจะประสานความร่วมมือดังกล่าวต่อไป 3.เสนอเพิ่มอัตรากำลัง เพื่อติดตามและตรวจสอบการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และถ่ายโอนงานบริการด้านงานตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐาน ให้แก่ภาคเอกชนที่มีความพร้อมดำเนินการแทน (Outsourcing) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและครอบคลุมสินค้าที่ต้องทดสอบ รวมทั้ง บูรณาการการทำงานห้องทดสอบหน่วยงานภาครัฐ ด้วยการอำนวยความสะดวกการให้บริการ แบบ One stop service เพื่อลดปัญหาการทดสอบสินค้าไม่ทันเวลาและต้องส่งห้องทดสอบหลายแห่ง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) แจ้งว่า สมอ.ได้มีการถ่ายโอนงานให้กับหน่วยงานภายนอกตรวจสอบสินค้า และสนับสนุนงบประมาณด้านอุปกรณ์ให้กับห้องทดสอบหลายแห่งเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม อาจมีสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมที่ดูแลไม่ถึงบ้าง
4.สนับสนุนให้มีการศึกษาและหาแนวทางการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้องตามหลักสากลเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยขอให้กระทรวง และภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีการหารือร่วมกัน โดยเฉพาะการกำจัดซากแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์ ซึ่งกระทรวงจะมีการหารือรายละเอียดร่วมกันต่อไป 5.ส่งเสริมแนวทาง Circular Economy ในบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ ขอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและ กกร. เพื่อขับเคลื่อนแนวคิด Circular Economy ในการผลิตสินค้าและบริการตั้งแต่ขั้นตอน R&D การออกแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการใช้งานของผู้บริโภคและเร่งสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยให้ สมอ.เป็น Certified Body เช่นเดียวกับ EUCertPlast ในการกำหนดปริมาณ Recycle ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และ Certify แหล่งที่มาของ Recycle รวมทั้ง ช่วยผลักดันให้เกิด Waste Management ในรูปแบบ End to End เพื่อเพิ่มปริมาณ Recycle และลด Waste to Landfill โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สนับสนุนการลงทุน อีกทั้งเร่งรัดห้ามการนำเข้า Plastic Waste นอกจากนี้ บังคับให้ผู้ประกอบการระบุวิธีการจัดการและกำจัดของเสียหลังการใช้งานของสินค้าทุกประเภท และเร่งใช้นโยบายด้านภาษีให้ Incentive กับผู้นำ Recycle เป็นส่วนในการผลิตมากขึ้น ในเรื่องนี้กระทรวงฯเห็นชอบกับข้อเสนอของหอการค้า และจะนำเสนอความเห็นในขั้นตอนต่อไป
6.พิจารณาการแยกประเภทโรงงาน “อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง” ออกจาก “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ให้ชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องผังเมืองที่เกี่ยวกับที่ตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรในพื้นที่สีเขียว (โรงงานลำดับที่ 42 ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 หมายถึง โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งมิใช่ปุ๋ย) ซึ่งกระทรวงแจ้งว่ามีการปรับปรุงนิยามของโรงงานลำดับที่ 42 ให้ละเอียดขึ้นโดยเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น ซึ่งน่าจะครอบคลุมตามที่หอการค้าไทยเสนอ
7.หอการค้าไทย ขอขอบคุณกระทรวงฯ ที่ทบทวนรายชื่อวัตถุอันตรายและขยายระยะเวลาบังคับใช้ ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกประกาศกำหนดให้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยกำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ทำให้ผู้ประกอบอาหารแปรรูปมีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตและสามารถนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศอื่น ๆ มาผลิต เพื่อการส่งออกได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงได้ขอให้ภาคเอกชนช่วยตรวจสอบว่ามีสารประเภทใดบ้างที่สามารถใช้ทดแทนสารดังกล่าว เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการพิจารณาขั้นต่อไป
8. ขอให้ทบทวนการยกเลิกโควตาน้ำตาลสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก (โควตา ค.) หรือสร้างมาตรการอื่นรองรับ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ โดยกระทรวงรับทราบและจะนำไปพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่ได้รับจากชาวไร่และความเห็นของกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ข้อเสนอต่าง ๆ ของหอการค้าไทย กระทรวงจะนำไปพิจารณาผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมและจะต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยจะให้มีการประสานงานและติดตามความคืบหน้าเรื่องต่าง ๆ ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่องที่เสนอมากันต่อไป.-สำนักข่าวไทย