เลย 17 ก.พ.-สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า ใช้ดาวเทียม LANDSAT-8 และ Sentinal-2B ติดตามสถานการณ์ไฟป่าภูกระดึง โดยการเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียม Landsat-8 ก่อนเกิดไฟป่า 18 มกราคม 2563 และภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 ระหว่างเกิดไฟป่า 16 กุมภาพันธ์ 2563 โดยไฟป่าภูกระดึงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 8 ปี
จากนั้นเปรียบเทียบกับข้อมูลจุดความร้อน หรือ HOT SPOT จากระบบ VIIRS (เวียร์) พบพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ บริเวณกรอบเส้นสีเหลือง ประมาณ 3,700 ไร่ ในป่าสนเขา ข้อมูลดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าตรวจสอบในพื้นที่จริงร่วมกับจังหวัด เพื่อนำไปสู่การวางแผนฟื้นฟู ป้องกัน และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่ อันจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนต่อไป
เหตุเกิดไฟป่าอุทยานแห่งชาติภูกระดึงครั้งนี้ นับเป็นไฟป่าครั้งที่ 3 ในรอบ 8 ปี นายสมบัติ พิมพ์ประสิทธิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง กล่าวว่า โดยครั้งล่าสุดเกิดไฟป่าในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย เมื่อปี 2559 แต่เกิดขึ้นคนละจุดกับปีนี้ ซึ่งในครั้งนั้นไฟป่าส่งผลกระทบต่อผืนป่าอนุรักษ์เป็นวงกว้างเช่นกันประมาณ 3,000-4,000 ไร่
สำหรับอุทยานแห่งชาติภูกระดึงได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2505 ตั้งอยู่ในท้องที่ ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย ครอบคลุมพื้นที่ 348 ตารางกิโลเมตร หรือกว่า 200,000 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด โดยมีที่ราบบนยอดภูกระดึงประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร หรือ 37,500 ไร่
ภูกระดึงมีระดับความสูงอยู่ระหว่าง 400-1,200 เมตร จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตร ประกอบไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด โดยเฉพาะป่าสนที่มีความสวยงาม และมีอายุกว่า 100 ปี รวมทั้งสัตว์ป่าหลากสายพันธุ์ มีภูมิประเทศเป็นหน้าผา ทุ่งหญ้า ลำธาร และน้ำตก เป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำพอง ซึ่งเป็นลำน้ำสายสำคัญสายหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หล่อเลี้ยงเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนหนองหวายใน จ.ขอนแก่น
อย่างไรก็ตาม ด้วยความสูง บรรยากาศ และสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดปีบนยอดภูกระดึง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิอาจลดต่ำจนถึง 0 องศาเซลเซียส จึงเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวปรารถนาที่หวังจะเป็นผู้พิชิตยอดภูกระดึงสักครั้งหนึ่งในชีวิต โดยยอดสูงสุดคือ ภูกุ่มข้าว สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,350 เมตร
ในส่วนของพืชพรรณของภูกระดึง เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดป่าหนึ่ง มีทั้งป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง และป่าดงดิบ ที่ระดับความสูงต่างๆ รวมทั้งป่าสนเขา พบเฉพาะบนที่ราบยอดภูกระดึงที่ระดับความสูงประมาณ 1,200-1,350 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สนสองใบ ก่อเตี้ย ทะโล้ สารภีดอย มะเขื่อเถื่อน รัก ฯลฯ ที่สำคัญป่าสนนี้มีอายุกว่า 100 ปี เป็นทรัพยากรที่สำคัญของภูกระดึงแห่งนี้
ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติกำหนดให้ปิด-เปิดการท่องเที่ยวเฉพาะบนยอดเขาภูกระดึง เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และให้สภาพธรรมชาติและสภาพแวดล้อมได้มีการพักฟื้นตัว หลังจากนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมอย่างมากในแต่ละปี ดังนี้ ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-30 กันยายนของทุกปี เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม-31 พฤษภาคมของทุกปี.-สำนักข่าวไทย