รัฐสภา 13 ก.พ.-ฝ่ายค้านโวยรัฐบาลมาประชุมช้า ทั้งที่ร่วมลงชื่อเป็นองค์ประชุม พร้อมตั้งข้อสังเกตศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้สภาฯ ลงมติร่างงบประมาณฯ ปี 63 ใหม่ได้หรือไม่ ขณะที่ “ชวน” ยันศาลไม่ได้แทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในวาระ 2และ 3 ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ช่วงแรก ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.เพื่อไทย ได้ลุกขึ้นท้วงติงรัฐบาล ที่ไม่เดินทางเข้าร่วมประชุมตรงเวลา ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมได้ตามเวลา 9.30 น. ทั้งที่ฝ่ายค้านได้มาลงชื่อร่วมเป็นองค์ประชุม เพื่อให้เปิดประชุมได้ แต่จะไม่ร่วมพิจารณาลงมติร่างงบประมาณฉบับนี้ พร้อมฝากสมาชิกฝ่ายค้านอย่าลืมบัตรไว้ที่โต๊ะเด็ดขาด เพราะเกรงจะเกิดปัญหามีการนำบัตรของฝ่ายค้านไปลงมติ
ด้าน วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ขอบคุณฝ่ายค้านที่ร่วมเป็นองค์ประชุมจนทำให้เปิดประชุมได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่เข้าสู่วาระการประชุม ฝ่ายค้านได้อภิปรายแสดงความเห็นเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะเร่งพิจารณาร่างงบประมาณ และเห็นด้วยกับคำบังคับของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาก้าวล่วงการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ จึงต้องการให้สภาฯ บันทึกจุดยืน ส.ส.ฝ่ายค้านเอาไว้ว่า เห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก จึงมาร่วมเป็นองค์ประชุม และเฝ้าดูการทำหน้าที่ของรัฐบาล ที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
“และขอฝากเป็นข้อสังเกตว่า การทำหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงเสร็จสิ้นกระบวนความแล้ว จะยังมีอำนาจต่อไปอีกหรือไม่ และเรื่องการลงคะแนนที่ไม่ชอบ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความแล้ว แต่ผมเห็นว่าการอภิปรายเป็นการอภิปรายที่ชอบ จึงควรบันทึกเอาไว้” นพ.ชลน่าน กล่าว
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.อนาคตใหม่ ตั้งคำถามกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า สามารถสั่งให้สภาฯ ดำเนินการสิ่งใดก็ได้หรือไม่ แสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือรัฐสภาใช่หรือไม่ และยังเกิดข้อสงสัยในหมู่นักวิชาการถึงคำวินิจฉัยของศาลว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า กระบวนการตรางบประมาณไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับไม่เป็นโมฆะ ไม่ตกไปตามรัฐธรรมนูญ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส. สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ขอหารือ และว่า ฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่ครบถ้วนกระบวนการ สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 แล้ว และเสียงบประมาณไปมากสำหรับการประชุม ค่าเบี้ยประชุม แต่มีกรณีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีดังนั้น ฝ่ายค้านขออนุญาตที่จะนั่งฟังการประชุมนอกห้องประชุม ปล่อยให้ฝ่ายรัฐบาลดำเนินการให้สบายใจทุกอย่าง
ด้าน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า สภาฯ ต้องเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะเริ่มพิจารณาตั้งแต่วาระ 2 เรียงตามลำดับรายมาตรา เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับสภาฯ และทุกองค์กร ยืนยันว่า สภาฯ พิจารณาอยู่ในกรอบ 105 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และยืนยันด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติได้ หากสภาฯ ไม่มีการร้องขอ การเดินหน้าพิจารณา หากดุลยพินิจของตนผิดพลาด ก็ต้องยอมรับ
“เหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเป็นเรื่องที่สภาฯ ขอวินิจฉัย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ศาลรัฐธรรมนูญจะมายุ่งกับสภาฯ และเรื่องนี้ประธานสภาฯ ไม่สามารถวินิจฉัยเองได้ จึงรับเรื่องและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และคำวินิจฉัยมีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร สิ่งที่ตัดสินใจไป จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวว่า ส่วนกรอบเวลาพิจารณา 105 วัน ซึ่งครบวันที่ 19 มกราคม ถือว่าปฏิบัติตามถูกต้อง เพราะพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม กระบวนการที่เกิดขึ้นวันนี้ เป็นกระบวนการใหม่ อันเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนบรรจุระเบียบวาระได้หารือกับหลายฝ่าย เห็นว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว และขอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ตามระเบียบวาระต่อไป
นายชวน ยังแจ้งยืนยันสถานะของ 4 ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรคอนาคตใหม่ ว่า กกต. ให้การรับรองการสังกัดพรรคใหม่แล้ว.- สำนักข่าวไทย