ทำเนียบฯ 6 ก.พ.- นายกฯ เป็นประธานติดตามแผนงานแก้ภัยแล้ง สั่งวางแผนระยะยาว เร่งหาแหล่งเก็บน้ำเพิ่มรองรับพายุ ที่คาดว่าจะเข้ามาในเดือน ก.ค.-ส.ค. นี้ เก็บน้ำใช้แล้งหน้า
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผย ภายหลังการประชุมเพื่อรับทราบนโยบาย และรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง ของหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเรื่องการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยการเพิ่มแหล่งเก็บน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ที่ต้องเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ป่า หรือ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บ
“พื้นที่ภาคอีสานที่ติดแม่น้ำโขง นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปเจรจากับจีน เพื่อให้ปล่อยน้ำลงมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามกรอบแม่โขงล้านช้าง ที่มีคณะกรรมการร่วมกัน 6 ประเทศ รวมถึง คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงไทย-จีน” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนลุ่มน้ำชีได้มีการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำ ขณะที่ แม่น้ำมูลได้มีการผันน้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก และพื้นที่ จ.นครราชสีมา ได้มีการขุดบ่อบาดาลเพื่ออุปโภคบริโภค พื้นที่ภาคกลาง ในบางจุดเป็นพื้นที่สูง โดยเฉพาะ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ได้ศึกษาเรื่องการขุดเจาะ และผันน้ำเพิ่มเติม ส่วนพื้นที่ EEC ในภาคตะวันออก คาดการณ์ว่าน้ำอาจจะขาด จึงได้พิจารณาผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแส 80 ล้าน ลบ.ม. ส่งไปยัง จ.ระยอง และชลบุรี มั่นใจว่าจะมีน้ำใช้ถึงเดือนมิถุนายน สำหรับพื้นที่ภาคใต้ มีความกังวลในเรื่องน้ำท่วมระยะสั้น พร้อมเร่งดำเนินการเรื่องโครงการระบายน้ำที่ จ.ตรัง และนครศรีธรรมราช
“นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ช่วงเดือนพ.ค. – มิ.ย.จะมีฝนน้อย และช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. จะมีพายุเข้ามา 1-2 ลูก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำมากขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ สทนช. หาแหล่งเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันภัยแล้ง ภายใน มิ.ย. เพื่อเก็บไว้ใช้ในปีหน้า” นายสมเกียรติ กล่าว .- สำนักข่าวไทย