กรุงเทพฯ 6 ก.พ. – มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หารือคมนาคม – ขนส่ง ทวงคำตอบ บังคับใช้กฎหมายจับ Grab Bike รอ 20 ก.พ.นี้ ส่วน “ขนส่งฯ” เร่งเปิดรับลงทะเบียนวินใหม่ คาดแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 6 ก.พ. 2563 ที่ กระทรวงคมนาคม น.ส.ปัทมศรี ไกรรส ประธานชมรมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ (จยย.) สาธารณะแห่งกรุงเทพมหานคร ชมรมเพื่อนแท้ชาววิน พร้อมด้วยสมาชิก 100 คน เข้ามายื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่องขอให้บังคับใช้กฎหมาย กับบริษัทแอพพลิเคชั่นที่กระทำผิดกฎหมาย โดยมีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับหนังสือ
น.ส.ปัทมศรี กล่าวว่า การเดินทางมายื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยามในครั้งนี้นั้น เพื่อมาทวงถามคำตอบตามที่เคยได้ยื่นไปก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องด้วยในปัจจุบันมีบริษัทที่เปิดให้บริการรับ – ส่งผู้โดยสารผ่านทางแอปพลิเคชั่น ได้มีการนำรถส่วนบุคคลมารับจ้าง พร้อมทั้งนำรถป้ายเหลืองมาวิ่งให้บริการนอกเขตวินที่จดทะเบียน จึงเรียงร้องให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และกระทรวงคมนาคม บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิด เนื่องจากในปัจจุบันกลุ่มผู้ขับขี่รถจักยานยนต์ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ภายหลังการยื่นหนังสือในครั้งนี้นั้น จะกลับมาทวงถามอีกครั้งในวันที่ 20 ก.พ. 2563
“ที่เราเดินทางมาในวันนี้ ถือเป็นเรื่องเก่าที่เคยได้มายื่นแล้ว แต่เงียบหายไป ตอนนี้ Grab ยังไม่ถูกกฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด แถมยังมาครอบมอเตอร์ไซค์วินที่จดทะเบียนถูกต้อง ทำให้เราถูกมองว่าเป็นผู้ต้องหา ถ้าจะบังคับ อย่ามาใช้แค่กับมอเตอร์ไซค์วิน ซึ่งเรายืนยันว่า เราไม่ได้เรียกร้องเกินกว่าเหตุ แต่ทำตามกระบวนการและกฎหมายทั้งหมด” น.ส.ปัทมศรี กล่าว
สำหรับข้อเรียกร้องของชมรมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ (จยย.) สาธารณะแห่งกรุงเทพมหานคร (เพื่อนแท้ชาววิน) ที่ยื่นต่อนายศักดิ์สยามนั้น มี 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ยกเลิกหรือเพิกถอนการจดทะเบียนของบริษัทที่ทำผิดกฎหมาย หรือมีมาตรการลงโทษกับบริษัทที่สนับสนุนรถส่วนบุคคลมารับจ้างและนำรถป้ายเหลืองมารับ-ส่งนอกเขตพื้นที่ตัวเองจดทะเบียนไว้ 2.ขอให้กระทรวงคมนาคมสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้มงวดจับกุมรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่มารับ-ส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชั่น และลงโทษในอัตราสูงสุด และ 3.ขอให้เพิ่มโทษกลับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มารับผู้โดยสารนอกเขตวินที่ตนเองจดทะเบียนไว้ ขอให้มีโทษปรับและลงโทษให้พ้นสภาพจากการเป็นรถสาธารณะ เพราะโทษปัจจุบันที่ใช้อยู่ มีเพียงบันทึกถ้อยคำและนำเสนอคณะอนุกรรมการประจำเขตเท่านั้น ทำให้ผู้กระทำความผิดไม่หลาบจำ
ขณะเดียวกัน ตามนโยบายของนายศักดิ์สยามที่ให้ผู้ที่พบเห็นว่า รถสาธารณะกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่กรมการขนส่งทางบก และผู้แจ้งจะได้รับเปอร์เซ็นต์จากค่าปรับนั้น จึงได้ตั้งคำถาม 3 ข้อ โดยระบุว่า 1.รถจักรยานยนต์สาธารณะแต่งกายไม่เรียบร้อยขณะรับ-ส่งผู้โดยสาร ผู้แจ้งจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับหรือไม่ 2.รถจักรยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย ใส่เสื้อวินแต่งกายเรียบร้อย แต่ขับรถส่วนบุคคลมารับจ้าง ผู้แจ้งจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับหรือไม่ และ 3.นำรถส่วนบุคคลมารับจ้าง ผู้แจ้งจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับหรือไม่
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า หลังจากนี้ จะนำข้อร้องเรียนของกลุ่มวินฯ ไปพิจารณาและตอบทุกข้อคำถามต่อไป โดยในขณะนี้ ขบ. ได้ประกาศเปิดรับลงทะเบียนสำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ทั้งในส่วนที่จะมีการจัดตั้งวินใหม่ หรือวิน จยย. เดิม แต่มีการเพิ่มสมาชิกใหม่ โดยต้องได้รับการยินยอมจากสมาชิกในวินเดิมด้วย ตามที่ได้มีการประกาศไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา หลังจากไม่ได้มีการเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา สำหรับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพวิน จยย. สามารถยื่นเอกสารการสมัครได้ จากนั้นคณะกรรมการในเรื่องดังกล่าว ที่ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ มณฑลทหารบกที่ 11 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ ขบ. จะเป็นผู้พิจารณาต่อไป คาดว่าใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ขบ.ยังไม่มีการพิจารณาจัดทำการให้บริการรถจักรยานยนต์ผ่านแอปพลิเคชั่นนั้น เนื่องจากจะต้องรอนโยบายให้มีความชัดเจนก่อน และจะต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่งจะใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยในระหว่างนี้ ขบ.จะเข้มงวดจับกุมผู้กระทำความผิด พร้อมทั้งหารือร่วมกับบริษัทที่จัดทำแอปพลิเคชั่น และเรียกรถจักรยานยนต์มากำหนดพื้นที่ไม่ให้วิ่งข้ามเขตพื้นที่ ให้ใช้รถที่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด รวมถึงการพิจารณาให้มีแอปพลิเคชั่นกลางหรือไม่ เพื่อให้รถจักรยานยนต์เข้าสู่ระบบให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีวินที่จัดตั้งทั่วประเทศกว่า 10,000 วิน คนขับรถ จยย. รับจ้างสาธารณะรวม 200,000 คน แบ่งเป็น ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต ประมาณ 5,000 กว่าวิน คนขับรถ จยย. รับจ้างสาธารณะ 90,000 กว่าคน และวิน จยย. ในพื้นที่ต่างจังหวัด ประมาณ 5,000 กว่าวิน คนขับรถ จยย. รับจ้างสาธารณะ 100,000 คน . – สำนักข่าวไทย