สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 ก.พ.- เลขาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดินแจง ระเบียบค่าเดินทางคู่สมรสออกมา เนื่องจากความร่วมมือการลงนามความร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดินต่างประเทศ ต้องมีภารกิจของคู่สมรส แต่เมื่อสังคมมีความกังวล จึงเตรียมยกเลิก แม้จะทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึง กรณีระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2563 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความเหมาะสม ว่า ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีระเบียบดังกล่าวอยู่แล้ว แต่หลังจากมีการบังคับ พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 จึงมีการออกระเบียบใหม่ โดยศึกษาระเบียบขององค์กรอื่นๆ ที่เห็นว่าจะสอดคล้องต่อการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ปัจจุบันมีการทำความร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดินต่างประเทศ และพบว่าระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีความเหมาะสม จึงได้นำมาเป็นต้นแบบ
นายรักษเกชา กล่าวว่า การเบิกจ่ายตามระเบียบของผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่ได้ทำโดยอัตโนมัติ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยงตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะกำหนดประมาณ 4,000 บาท ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ไม่เกิน 100 ดอลลาร์ หน่วยงานราชการกำหนดไว้ที่ 3,500 บาท ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดไว้ 4,500 บาท โดยยึดตามค่าครองชีพเป็นหลัก และการเบิกต้องมีใบเสร็จ เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคู่สมรส ซึ่งปัจจุบันการทำงานของผู้ตรวจฯ มีการลงนามความร่วมมือระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินประเทศไทยและต่างประเทศ โดยในบางภารกิจ คู่สมรสก็ไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เป็นการเบิกได้โดยอัตโนมัติ ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ตรวจฯ และการเบิกจ่ายต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานฯ
“ที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำงานร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดินของต่างประเทศหลายประเทศในการแก้ไขปัญหา เช่น การช่วยหญิงไทยที่เกาหลี ซึ่งไม่เข้าถึงการรักษาพยาบาล หรือ การช่วยนักเรียนไทยในประเทศอินโดนีเซีย ที่ไม่ต้องเสียค่าปรับ เนื่องจากการต่อวีซ่าไม่ทัน ก็มาจากการติดต่อประสานงานของผู้ตรวจการแผ่นดินไทยกับผู้ตรวจการแผ่นดินต่างประเทศ ตามที่เราได้ลงนามความร่วมมือเอาไว้
“ระเบียบนี้จึงออกมาเพื่อรองรับคนที่จะไปทำงาน แต่เมื่อสังคมมีความกังวล และผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ได้มีเจตนาใช้เงินฟุ่มเฟือยโดยไม่มีเหตุผล ผู้ตรวจฯ จึงได้มีการหารือกัน และเห็นว่า เพื่อให้สังคมเกิดความสบายใจ เราก็จะมีการแก้ไขระเบียบนี้ เพื่อให้มีการยกเลิก ไม่ใช่เพราะกลัวจะซ้ำรอยเหมือนเรื่องกรรมการองค์กรอิสระออกระเบียบขึ้นค่าตอบแทนตัวเอง เพราะผู้ตรวจฯ คิดว่า เราทำเรื่องนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจอยู่แล้ว” นายรักษเกชา กล่าว .-สำนักข่าวไทย