จ.นครศรีธรรมราช 1 ก.พ.- รองนายกฯ สมคิด ดึงหลายหน่วยงาน คลัง พลังงาน อุดมศึกษา เกษตรฯ หนุนโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทยในภาคใต้ ดึงแบงก์รัฐ ธ.ก.ส. ออมสิน เติมทุนให้กับฐานราก
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นพร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อมอบนโยบายและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน “โครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาปักษ์ใต้ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน” โดยนายสมคิด ระบุจะเร่งแก้ไข ปัญหายางพาราที่ตกต่ำเหลือประมาณ 30 บาท/กก. โดยการปลูกยางมีจำนวนมากทั่วประเทศ ผู้ซื้อลดลง จะต้องหาทางแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในส่วนของภาคใต้ รัฐบาลให้ความสำคัญมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนารถไฟทางคู่ลงภาคใต้ การพัฒนาไทยแลนด์ริเวียล่า เพราะไทยมีพื้นติดทะเลยาวมาก การพัฒนา
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ( SEC) ยกระดับเมืองไทยได้ ผ่านโครงการประชารัฐสร้างไทย
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงคลังพร้อมหนุนภาคีเครือข่ายทุกกระทรวง หน่วยงานรัฐ เอกชน แบงก์รัฐ ร่วมกันยกระดับปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ปรับเทคโนโลยี เครื่องจักรสมัยใหม่ ส่งเสริมการผลิตในวิสาหกิจชุมชน การดูแลการเข้าถึงที่อยู่อาศัย การพัฒนาด้านต่างๆรองรับการซื้อขายผ่านออนไลน์ เป็นต้น
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจับมือกันลงพื้นที่ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เพื่อร่วมมือกันผลักดันราคาสินค้าให้ขยับสูงขึ้นเหมือนกับปาล์มน้ำมัน รองรับการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ส่งเสริมชาวบ้านหันมาปลูกไผ่ กระถิน หญ้าเนเปียร์ เป็นวัตถุดิบ รองรับการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เพราะทำรายได้ 1-2 แสนบาท
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับภาคคีเครือข่ายพันธมิตร เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และเอสเอ็มอี 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อยกระดับองค์กรการเงินชุมชน มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า ออมสินยุวพัฒน์รักถิ่น โครงการมหาวิทยาลัยชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน เป้าหมาย 4,000 แห่ง การมุ่งส่งเสริมตลาดสู่สังคมไร้เงินสด มุ่งหวังส่งเสริมร้านค้า 10,000 ร้านค้าภายในปี 63 การส่งเสริมเอสเอ็มอีในภาคใต้วงเงิน 50,000 ล้านบาท วงเงินกู้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย และสินเชื่อ Transformation Loan วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและเสริมสภาพคล่อง สำหรับผลการดำเนินงานโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาภาคใต้ ใช้ กลไก “3 ออม 3 สร้าง” 3 ออม คือ (1)ออมเศรษฐกิจ (2)ออมสังคม (3)ออมสิ่งแวดล้อม และกลไก 3 สร้าง คือ (1)การสร้างความรู้/สร้างอาชีพ เช่น โครงการมหาวิทยาลัยประชาชน ธนาคารร่วมมือกับ 11 สถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ จัดทำ 55 หลักสูตรเพื่ออบรมอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งหลังจากผู้มีรายได้น้อยเข้าอบรม พบว่าทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ75 พร้อมทั้งสร้างตลาด/สร้างรายได้ ธนาคารได้มีโครงการตลาด Digithai ยกระดับลูกค้าฐานรากที่ปักษ์ใต้สู่สังคมไร้เงินสด และโครงการตลาดร่วมกับภาคีในพื้นที่ เพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย และโครงการตลาด Street Food By GSB ซึ่งมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 3,000 ร้านค้า, สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การท่องเที่ยวมุ่งส่งเสริมผู้นำชุมชน รู้จัดการบริหารในชุมชน เพื่อดึงสมาชิกในชุมชนมาร่วมพัฒนา ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่ การรักษาอัตลักษ์ท้องถิ่น การจัดประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท การสร้างตลาดด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมคนไทยเที่ยวไทยให้มากขึ้น ในช่วงเกิดปัญหาแพร่ระบาดโรคไวรัสโคโรน่า ผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวของชุมชน สินค้าโอท็อบ เนื่องจากภาคใต้มีศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจำนวนมาก จึงต้องการยกระดับเส้นทางท่องเที่ยวขนาดเล็กเชื่อมกับแหล่งท่องเที่ยวหลัก เพื่อดึงนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาเยี่ยมเยือน.-สำนักข่าวไทย