กรุงเทพฯ 29 ม.ค. – กทพ.เซ็นสัญญากิจการร่วมค้าซีทีบีและบุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง ทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนตะวันตก สัญญาที่ 2 งานโยธา วงเงิน 6,440 ล้านบาท
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างระหว่าง กทพ. กับกิจการร่วมค้า ซีทีบี โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 2 (งานโยธา) โดยโครงการดังกล่าวแบ่งก่อสร้างงานโยธา 4 สัญญา
“คาดว่าจะเริ่มงานในส่วนของสัญญาที่ 2 หลังเซ็นสัญญากับกิจการร่วมค้าซีทีบีไปแล้ว เร็ว ๆ นี้ ขณะนี้รอการอนุมัติเข้าใช้พื้นที่จากกรมทางหลวง (ทล.) เพราะต้องสร้างอยู่บนเกาะกลางถนนพระราม 2” นายสุรงค์ กล่าว
นายสุรงค์ กล่าวว่า ในส่วนของ 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 ของกิจการร่วมค้า CNA มีบริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่นเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ เอส แอสโซซิเอท เอ็นยิเนียริ่ง (1964) จำกัด วงเงิน 5,897 ล้านบาท อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดการอุทธรณ์เรื่องคุณสมบัติและผลงานของผู้รับเหมา คาดว่าจะเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ จากนั้นจะเสนอให้บอร์ดพิจารณา อย่างไรก็ตาม ขณะที่สัญญาที่ 3 ทางกิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ประกอบด้วย บจ.China Railway 11th Bureau Group Corporaton บริษัท ซีวิล เอ็นจีเนียริง จำกัดและ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด วงเงิน 6,098 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติจากบอร์ดแล้ว รอรับฟังการอุทธรณ์ หากไม่มีอะไรจะเซ็นสัญญาได้
นายสุรงค์ กล่าวว่า หลังจากการประมูลมีความชัดเจนจะเร่งเดินหน้าทันที เนื่องจากเป็นประโยชน์ของประชาชน และยอมรับว่างานก่อสร้างแต่ละสัญญาลงนามไม่พร้อมกัน ส่งผลต่อแผนงานของโครงการมีความล่าช้าจากแผนงานแล้วประมาณ 6-7 เดือน โครงการดังกล่าวอยู่ในแผนแม่บททางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ซึ่งเป็นโครงข่ายทางพิเศษเชื่อมโยงการเดินทางแนวรัศมีระหว่าง กทม.กับพื้นที่ทางด้านตะวันตก รวมถึงการเดินทางจากจังหวัดภาคใต้ของประเทศ เพื่อช่วยให้การเดินทางเข้าสู่ กทม.เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษ เฉลิมมหานคร ช่วงดาวคะนองถึงท่าเรือ รวมถึงบนถนนพระราม 2 ในปัจจุบัน
สำหรับงานก่อสร้างแบ่งสัญญาออกเป็น 5 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 ถึงสัญญาที่ 4 เป็นงานโยธา และสัญญาที่ 5 เป็นงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางฯ ซึ่งสัญญาที่ 2 ที่เซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 29 มกราคมนี้ เป็นการดำเนินการบนถนนพระราม 2 โดยเริ่มต้นจาก กม.ที่ 6+400 ถึง กม.ที่ 11+700 ของโครงการ หรือ กม.ที่ 1+300 ถึง กม.ที่ 6+600 ของถนนพระราม 2 รวมระยะทางประมาณ 5.3 กม. ประกอบด้วย ทางยกระดับ ทางขึ้น-ลง ที่กลับรถ ด่านเก็บค่าผ่านทาง ด่านจ่ายบัตรค่าผ่านทาง และอาคารด่านฯ รวมทั้งส่วนประกอบอื่น ๆ ของโครงการฯ มีระยะเวลาก่อสร้าง 1,170 วัน
อย่างไรก็ตาม กรณีข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B และC ที่จะหมดสัมปทาน วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 นั้น ได้มีการเตรียมแผนสำรองไว้แล้ว ซึ่งอาจจะมีการจ้างดำเนินการชั่วคราวกับเอกชนรายเดิมหรือบริหารเอง.-สำนักข่าวไทย