กรุงเทพฯ 29 ม.ค..-กสศ.จับมือกยศ.บูรณาการฐานข้อมูล ลดปัญหาให้ทุนการศึกษาซ้ำซ้อน เน้นเพิ่มศักยภาพการช่วยเหลือเด็กยากจนตรงกลุ่มเป้าหมาย
นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.) นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการดำเนินงานร่วมกันของ2หน่วยงาน
นายสุภกร กล่าวว่า กยศ. และ กสศ. เป็นองค์กรที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่มีลักษณะการดำเนินงานแตกต่างกัน กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียนขนาดใหญ่ มีภารกิจมุ่งเน้นให้กู้ยืมเงินแก่นักศึกษารายคนเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพระหว่างศึกษา และต้องชำระหนี้คืนตามกฎหมาย กยศ. ยังมุ่งให้การช่วยเหลือเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อายุ 15-25 ปี ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษาจนถึงปริญญาตรี ปีละประมาณ 476,830 คน
ในขณะที่ กสศ. มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา บรรเทาอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยม 3 โดยวิธีการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข และมีภารกิจ จัดการค้นคว้าศึกษาวิจัย ทดลอง แนวทางการปฏิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาตัวแบบนำไปสู่การขยายผล และเสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กสศ. จะใช้วิธีการสนับสนุนงบประมาณในรูปแบบโครงการให้แก่หน่วยงาน (Project-based Program) โดยส่วนนี้ กสศ.จะมีการทดลองกับกลุ่มประชากรยากจนด้อยโอกาสจำนวนไม่มากนัก เช่น ทุนการศึกษาต่อสายอาชีพปีละ 2,500 คน ทุนเรียนครูที่ผูกมัดต้องไปปฏิบัติงานในโรงเรียนชนบทห่างไกลปีละ 300 คน เป็นต้น
สำหรับกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่กสศ.ช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี 2562 แบ่งออกเป็น กลุ่มการศึกษาภาคบังคับระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาตอนต้น โดยให้เงินอุดหนุนเพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ได้แก่ กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษผ่านโครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือนักเรียนทุนเสมอภาค จำนวน 949,941 คน และ กลุ่มมัธยมศึกษาตอนปลาย /ประชากรวัยแรงงาน /เด็กนอกระบบ และกลุ่มครู ที่กสศ.ให้การสนับสนุนจำนวนน้อย ส่วนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จำนวนปีละ 2,500 คน เพื่อศึกษาทดลองระบบลดความเหลื่อมล้ำ สำหรับเสนอนโยบายปฏิรูปการศึกษา
นายสุภกร กล่าวว่า แม้ทั้ง2หน่วยงาน จะเป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่เยาวชนคนใดคนหนึ่งจะไม่สามารถรับการสนับสนุนทุนการศึกษาจาก กสศ. ไปพร้อมๆ กับการกู้ยืมเงินจาก กยศ. ในช่วงเวลาเดียวกันได้ สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนได้มากขึ้นและลดปัญหาการให้ทุนการศึกษาซ้ำซ้อนกัน อย่างไรก็ตาม กยศ. และ กสศ. ต่างดำเนินงานเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์สำคัญ คือการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันจะช่วยทำให้การดำเนินงานในภาพรวมเกิดความเชื่อมโยงและเป็นทิศทางเดียวกันหลายด้าน
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ความร่วมมือของ2หน่วยงานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัย และข้อมูลผู้กู้ยืม กยศ. กับผู้รับทุน กสศ. เพื่อให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับโอกาสทางการศึกษา จะทำให้เยาวชนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ไม่ซ้ำซ้อนในการได้รับโอกาสทางการศึกษา และเป็นการใช้งบประมาณของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งข้อมูลถือเป็นประเด็นสำคัญ ในอนาคตเยาวชนที่เคยได้รับโอกาสจาก กสศ.แล้ว แสดงว่าเป็นคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มา ดังนั้น กยศ.ก็สามารถจะดูแลต่อได้เลย โดยที่ไม่ต้องวิเคราะห์ว่าเด็กคนนี้มีฐานะยากจนจริงหรือไม่ ซึ่งหากเข้าตามเกณฑ์เงื่อนไขของ กยศ.ทั้งหมด โดย กยศ.ให้กู้ต่อปีประมาณปีละ 26,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย