กรุงเทพฯ 27 ม.ค. – ส.อ.ท.ห่วงปัญหา PM2.5 พร้อมเสนอชุดมาตรการต่าง ๆ ที่ควรทำรวมถึงการใช้รถไฟฟ้า(EV)สำหรับรถสาธารณะ
หลังจากคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการนั้นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( ส.อ.ท.) ระบุว่า ส.อ.ท. มีความกังวลในการขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก และห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ในวันคี่ ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งอาจสร้างผลกระทบเป็นอย่างมาก อาทิ การดำเนินงาน บริหารจัดการพนักงานขับรถ และการขนส่งสินค้าให้เป็นไปตามกำหนดเวลา ซึ่งจะกระทบต่อทั้งการขนส่งภายในประเทศ และการขนส่งเพื่อส่งออกผ่านทางเรือขนส่ง ประกอบกับผู้ประกอบการอาจขาดสภาพคล่องจากการได้รับเงินล่าช้า นอกจากนี้ จะเกิดมลพิษเพิ่มทางอากาศในวันคู่ที่มีรถบรรทุกเข้ามาวิ่ง ซึ่งจะต้องมีการวิ่งรถในหลายเที่ยว เพื่อทดแทนวันคี่
ดังนั้น ทาง ส.อ.ท.จีงมีข้อเสนอและแนวทางดำเนินการของ ส.อ.ท. ในภาคขนส่งและโลจิสติกส์ ระยะเร่งด่วน ดังนี้ สนับสนุนการตรวจสอบสภาพรถ การทำความสะอาดท่อไอเสีย และห้ามรถที่ปล่อยควันดำวิ่งออกนอกโรงงาน มีมาตรการสนับสนุนให้รถยนตร์ใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 มีมาตรการสนับสนุนโครงการการปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ ทั้งการหา Model และหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการฯ อาทิ การสนับสนุนค่าแรง การเปลี่ยนอะไหล่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง มาตรการระยะยาว ให้มีนโยบายให้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) สำหรับรถสาธารณะ เช่น รถประจำทาง รถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง
สำหรับข้อเสนอและแนวทางดำเนินการของ ส.อ.ท. ในภาคอุตสาหกรรม ระยะเร่งด่วน ให้ขอความร่วมมือให้โรงงานทำกระบวนการผลิตในการปรับหัวเผาไหม้ (Burner) ของหม้อไอน้ำ (Boiler) ให้มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ขอความร่วมมือให้โรงงานทำการตรวจติดตามและป้องกันผลกระทบ ได้แก่ ขออความร่วมมือให้โรงงานอุตสาหกรรมทำความสะอาด (Big Cleaning) และให้มีการหยุดซ่อมบำรุงตามตารางดำเนินการ และในช่วงวิกฤต รวมถึง ตรวจสอบ ซ่อมบำรุง, มีการทำความสะอาดอุปกรณ์กำจัด/บำบัดฝุ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องกรองฝุ่นหรือดักฝุ่น จัดทำข้อมูลรายการชนิดของแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองของโรงงาน เพื่อตรวจสอบวิเคราะห์จุด Hot Spot ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น และเพิ่มมาตรการในการตรวจติดตามและป้องกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการตรวจวัดปล่องระบายอากาศ จุดที่ทำให้เกิดฝุ่นให้ถี่ขึ้นกว่าเดิมเพื่อควบคุมและลดผลกระทบ
ส่วนมาตรการระยะยาว ส.อ.ท. จะขอความร่วมมือผ่านภาครัฐกับบริษัท Huawei ซึ่งมีประสบการณ์ในการสำรวจพื้นที่ในประเทศจีนว่ามีฝุ่นละออง (PM) ขนาดใดบาง ตามวิธีดำเนินการ เพื่อวางแนวทางแก้ไขฝุ่นละออง (PM) ของประเทศไทย ในระยะยาว และ ให้มีการใช้เชื้อเพลิงสะอาดในอุปกรณ์และเครื่องจักรของโรงงาน รวมทั้ง การขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ เช่น ก๊าซธรรรมชาติ เพื่อลดปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน มีการให้การส่งเสริมเพื่อการสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ให้มากขึ้น
ด้านปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาคเกษตร การทำไร่พืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าว ข้าวโพด และอ้อย ซึ่งการเผาทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย แต่การฝังกลบหรือกำจัดวัชพืชด้วยวิธีฝังกลบมีค่าใช้จ่ายสูง ประกอบกับเกษตรกรขาดแคลนแรงงาน และขาดแคลนเงินทุนในการจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงเกษตรกรเร่งรีบในการปลูกในรอบถัดไป จึงทำให้การเผาเป็นวิธีเดียวที่เลือกใช้ทำการเกษตร เนื่องจากง่าย รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ การเผาในที่โล่งในภาคการเกษตรเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM ในบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาป่า
ข้อเสนอและแนวทางดำเนินการของ ส.อ.ท. ในภาคเกษตร เสนอให้มีการร่วมตัวและแบ่งปันอุปกรณ์ เครื่องมือทางการเกษตร ในรูปเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ในแต่ละจังหวัดจัดทำเป็นรายพื้นที่ โดยนำรูปแบบของจังหวัดชัยนาทมาเป็นต้นแบบในการดำเนินการ ซึ่งมีการร่วมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ และใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการเก็บเกี่ยวร่วมกัน ขอให้ภาครัฐให้เกษตรกรสามารถกู้ยืมเต็มจำนวนในการซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร โดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือผ่านกองทุนหมู่บ้าน ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร โดยวิธีการใช้งบประมาณกองทุนหมู่บ้านร้อยละ 50 และเกษตรกรจ่ายเองร้อยละ 50 สนับสนุนการวางแผนการปลูกพืช (Crop Planning) โดยกำหนดให้มีระยะเวลาปลูกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกัน และส่งผลดีกับการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้งานร่วมกันในพื้นที่ โดยจัดสรรน้ำให้เพียงพอ โดยเฉพาะการปลูกอ้อยและข้าวโพด . – สำนักข่าวไทย