กรุงเทพฯ 27 ม.ค. – รมว.พลังงาน เผยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาตรวจวัดการซื้อปาล์มของบี100 และโรงสกัด ทั้งระบบ ป้องกันการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ชมอีเอ ใช้บล็อกเชนซื้อขาย PCM ยกระดับราคาปาล์ม 3 เท่าตัว
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีแนวคิดป้องกันการลักลอบการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) จากต่างประเทศต่อเนื่อง โดยจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน มาใช้ในการซื้อขายซีพีโอ สำหรับการผลิตบี 100 ควบคุมปริมาณตั้งแต่ลานเท โรงสกัดน้ำมัน โรงกลั่น โรงงานบี 100 ซึ่งจะทำให้รู้ได้ว่า โรงสกัด ซื้อปาล์มจากเกษตรกรในประเทศและควรจะผลิตซีพีโอได้ปริมาณเท่าใด หากพบว่า ปริมาณสูงเกินกว่าปริมาณรับซื้อผลปาล์ม ก็จะทำให้รับทราบได้ว่าเป็นการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ทางผู้ผลิตบี 100 ก็จะปฏิเสธการรับซื้อ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการประกาศนโยบายไบโอดีเซล บี10 เป็นน้ำมันพื้นฐานหลัก เพื่อยกระดับราคาปาล์ม ช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศให้ขายผลปาล์มดิบ ไม่ต่ำกว่า 4 บาท/กก.
นายสนธิรัตน์ ยังกล่าวด้วยว่า การดำเนินการของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่ลงทุนนำบี 100 มาต่อยอดด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตต้นแบบ ‘สารเปลี่ยนสถานะ’ หรือ PCM (Phase Change Material) ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะราคาแพงกว่า ซีพีโอถึง 3 เท่าตัว โดยสารดังกล่าวกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เพราะนำไปเป็นสารลดอุณหภูมิ ทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอ และก่อสร้าง ช่วยสร้างเสถียภาพราคาปาล์มแก่เกษตรกร และอีเอ ยังใช้แอปพลิเคชัน ‘ปาล์มยั่งยืน’ แพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain มาวางกลไกไว้ใช้ตรวจสอบทุกธุรกรรมการซื้อขายสร้างความโปร่งใส เป็นธรรม แก่การซื้อปาล์มทั้งระบบ
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร อีเอ กล่าวว่าบริษัทลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ในโครงการ PCM เป็นการเพิ่มมูลค่าของปาล์มและทำให้เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นทำให้เกิดการการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย PCM (Phase Change Material) คือ วัสดุที่มีความสามารถในการกักเก็บพลังงานสูง ชวยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ที่ค่าใดค่าหนึ่งตามแต่สูตรการผลิต ด้วยการดูดซับและปลดปล่อยพลังงานความร้อน และเปลี่ยนสถานะสารจากของเหลวเป็นของแข็งและจากของแข็งเป็นของเหลวได้จากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป จึงสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบใช้ประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น อาคารและการก่อสร้าง, เสื้อผ้า, บรรจุภัณฑ์, การขนส่ง เป็นต้น และ PCM จากน้ำมันปาล์ม หรือจากแหล่งชีวภาพ (Bio Base) เป็นนวัตกรรมใหม่ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกโดย EA ซึ่งอยู่ในระหว่างการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรในระดับโลก
ปัจจุบัน ตลาด PCM โลก มีมูลค่าราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มอีก 3 เท่าภายในอีก 5 ปี สำหรับโรงงานผลิต PCM ของ EA ตั้งอยู่ที่ จ. ระยอง มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 130 ตัน/วัน ขณะนี้มีราคา 80-100 บาท/กก. เริ่มผลิตเฟสแรกในไตรมาสที่ 2 โดยส่งออกจำหน่ายไปประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น ทั้งหมด เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคาร และที่อยู่อาศัย เป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการรักษาอุณหภูมิและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนได้ ให้ภายในสิ้นปีนี้ สัดส่วนรายได้ของ PCM จะอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาทคิดเป็น ร้อยละ3 ของรายได้รวมบริษัทฯ สำหรับสายการผลิต PCM เฟสสองจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าที่จะขยายกำลังการผลิตเป็น 1,000 ตัน/วันภายในอีก 5 ปี . – สำนักข่าวไทย