กรุงเทพฯ 27 ม.ค. – “สนธิรัตน์” นโยบายไม่หยุดนิ่ง มอบ ปตท.ศึกษาใช้แอลเอ็นจีราคาถูก ชะลอการใช้ก๊าซฯในประเทศ พร้อมหนุนแก้ระเบียบส่งออกแอลพีจีที่ผลิตในประเทศ หลังยอดใช้หดตัว ย้ำลดค่าไฟฟ้าคนจน – เอสเอ็มอี จะใช้งบประมาณภาครัฐมาดูแล
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีตลาดโลกขณะนี้ต่ำมาก ราคาตลาดจร (SPOT ) อยู่ที่กว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู เท่านั้น จึงสั่งการให้ บมจ.ปตท. ศึกษาว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ชะลอการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ ซึ่งขณะนี้ ราคาในประเทศสูงกว่า แล้วใช้แอลเอ็นจีทดแทน เพื่อทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ และยังสามารถยืดอายุเวลาของแหล่งก๊าซฯในประเทศให้นานขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกัน ปตท.ก็มีแผนจะเป็นศูนย์การการค้าแอลเอ็นจีในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะเป็นการนำเข้าแอลเอ็นจี แล้วส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มในไตรมาส3 ปีนี้ ดังนั้น ทั้ง 2 ส่วนนี้ก็จะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกัน แต่จะมีผลกระทบผลดีผลเสียอย่างไรและจะเป็นไปได้หรือไม่นั้นต้องรอผลการศึกษา ของ ปตท.เสียก่อน
“แอลเอ็นจีตลาดโลกขณะนี้ต่ำมาก หากไทยจะนำเข้ามาใช้ทั้งการผลิตไฟฟ้า และ RE EXPORT แล้วชะลอการใช้ก๊าซในไทยไปก่อน จะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ให้ ปตท.ศึกษา ซึ่งแน่นอนว่าต้องดูถึงผลกระทบสัญญาการรับซื้อของแต่ละแหล่งด้วย ซึ่งคาดว่าจะไม่กระทบเพราะให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำสัญญาซื้อตามสัญญาหลัก (DCQ )กับ ปตท.แล้ว ซึ่งนโยบายแนวคิดผมจะไม่หยุดนิ่ง และยืดหยุ่น หากทำได้แล้วเป็นประโยชน์ประเทศก็ควรดำเนินการ “นายสนธิรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ การใช้ก๊าซฯในประเทศอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน โดยใช้ก๊าซจากแหล่งในประเทศราว 3.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซจากแหล่งเมียนมาร์ รวม 1 พันล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน และ ปตท.มีสัญญาระยะยาวในการนำเข้าแอลเอ็นจี 5.2 ล้านตัน/ปีหรือ 728 ล้านลูกบาศ์ก ฟุต/วัน
นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ ทาง ปตท.เสนอขอส่งออกแอลพีจีที่ผลิตในประเทศ จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่เกิดจากปริมาณความต้องการใช้ลดลงนั้น ในเรื่องนี้ คงต้องศึกษาข้อมูลทั้งหมด หากจำเป็นต้องส่งออกก็คงต้องดูว่าจะต้องแก้ไขหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่ โดยเดิมนั้น ภาครัฐไม่อนุญาตให้มีการส่งออกตั้งแต่ปี 2561 เพื่อป้องกันการขาดแคลนLPG ในขณะที่กรมธุรกิจพลังงานคาดการณ์ความต้องการใช้แอลพีจีปีนี้ลดลงร้อยละ 1.9 จากปีที่แล้ว โดยคาดอยู่ที่ 17.5 ล้านกิโลกรัม/วัน
นายสนธิรัตน์ ยังยืนยันด้วยว่า กรณีการศึกษาการลดค่าไฟฟ้าเป็นพิเศษ แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น การลดค่าไฟฟ้าจะมาจากงบประมาณของรัฐบาล จะไม่ได้มาจากงบฯของ 3 การไฟฟ้า และเงินของผู้ใช้ไฟฟ้าแต่อย่างใด . – สำนักข่าวไทย