ราชบัณฑิตยสภา 24 ม.ค.-สุดสัปดาห์นี้ปัญหาฝุ่นPM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะลดลงไม่กระทบต่อสุขภาพ แต่สถานการณ์จะไปรุนแรงในภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ เช่น ขอนแก่น แทน ด้าน ราชบัณฑิตเสนอรัฐแก้ปัญหาตามหลักวิชาการ พร้อมร่วมมือนักวิจัยนานาชาติ สร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าร่วมกัน
วันนี้ (24ม.ค.) ที่ราชบัณฑิตยสภา ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา พร้อมด้วย ศ.ดร.นสพ. ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ และราชบัณฑิต ร่วมแถลง “ข้อมูลใหม่ สถานการณ์ภาวะมลพิษฝุ่น PM2.5” ซึ่งราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ได้ติดตามและทำวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและไม่ใช่เฉพาะปัญหาของกรุงเทพมหานครหรือประเทศไทยแต่เป็นปัญหาร่วมกันของโลก
จากผลการศึกษาปัญหามลพิษ PM2.5ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในเดือนมกราคมปีนี้ พบว่าสถานการณ์มลพิษอากาศ PM 2.5 มีความรุนแรงเกินค่ามาตรฐานในหลายจุด รุนแรงสุด ในช่วงวันที่ 5-12 มกราคมและวันที่ 18-22 มกราคม ตรวจวัดค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 37- 109 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ไม่พบความผิดปกติของปรากฏการณ์ฝาชีอากาศ ผกผันคู่เหมือนกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ค่ามลพิษอากาศPM2.5 ของปีที่แล้วมีความรุนแรงสูงผิดปกติต่อเนื่องทั้งเดือน
ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ราชบัณฑิต กล่าวว่า สถานการณ์มลพิษอากาศฝุ่น PM 2.5 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงสัปดาห์นี้ตั้งแต่ 20-26 มกราคม หากไม่มีความแปรปรวนของลักษณะอากาศที่ผิด ปกติเกิดขึ้น ในช่วงเวลานี้สถานการณ์น่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับความรุนแรงเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะช่วงเช้าเวลา 07.00-10.00 น. จากนั้นจะลดต่ำลงเนื่องจากอากาศและฝุ่นสามารถลอยตัวสูงขึ้นไปสะสมที่อากาศผกผันเบาบางในระดับความสูงที่ประมาณ 10,000 ฟุตและบางวันอาจจะค่าฝุ่นPM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วงเวลา 10.00- 18.00 น. มีค่าสูง ไม่ลดลงเนื่องจากมีลมตะวันออกตะวันออกเฉียงเหนือพัดฝุ่นจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเพิ่มขึ้น
แต่สถานการณ์จะดีขึ้นตั้งแต่เย็นวันนี้เป็นต้นไป เนื่องจากจะมีลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดเข้าสู่บริเวณกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 25 และ 26 มกราคมนี้ ทำให้ปัญหาฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ จะลดความเข้มข้นลงสู่ระดับน้อยกว่าค่ามาตรฐาน แต่จะไปทำให้เกิดปัญหาในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีความรุนแรงมากขึ้น ค่าฝุ่นPM2.5 จะอยู่ที่ประมาณ 50-70 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรโดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ เช่นขอนแก่น ขอให้ประชาชนเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น
ราชบัณฑิต เสนอมาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลควรดำเนินการ โดยเฉพาะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจปัญหาและแนะนำวิธีการดูแลปัญหาสุขภาพเบื้องต้นโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็กและผู้ป่วยวิกฤติ ควรเริ่มมาตรการลดฝุ่น ตั้งแต่แหล่งกำเนิดไม่ควรให้ปัญหาอยู่ในขั้นวิกฤตแล้วแก้ไขเช่นที่ผ่านมา โดยมาตรการที่เห็นผล เช่นการจำกัดปริมาณรถยนต์ส่วนตัวเข้าเมืองหรือการเหลื่อมเวลาทำงานในช่วงเกิดปัญหาฝุ่นรุนแรง ช่วงเวลา 07.00-10.00 น.
ส่วนมาตรการปิดโรงเรียนหรือมาตรการฉุกเฉินต่างๆ ควรกระทำอย่างรอบคอบและระมัดระวังเพราะจะมีผลต่อการตื่นตระหนกของประชาชนและนักท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ ควรออกกฏหมายเพื่อบริหารจัดการการเผาวัสดุมวลชีวภาพและเผาขยะในที่ลมอย่างเป็นระบบ ไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีการทำเกษตรกรรมของสังคมไทย
โดยในส่วนของนักวิชาการและราชบัณฑิตได้เฝ้าระวังและติดตามปัญหามลพิษอากาศทั้งระบบ รวมทั้งร่วมมือกับนักวิชาการนานาชาติโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นเพื่อร่วมสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อแจ้งเตือนประชาชนและสังคมล่วงหน้าก่อนภัยจะมาและมีแผนรับมือปรับตัวต่อพิบัติภัยมลพิษทางอากาศเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมและประชาชน ล่าสุด ญี่ปุ่นจะมาติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามปัญหาฝุ่นและการเปลี่ยนแปลงของสภาพพูมิอากาศในประเทศไทย เนื่องจากปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ใดที่หนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งแต่สามารถกระจายไปได้ทั่วโลก .-สำนักข่าวไทย