รัฐสภา 22 ม.ค. -สภาฯ เสนอญัตติด่วน ขอตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขฝุ่น PM 2.5
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ใช้สิทธิ์ตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 54 (1 )เสนอญัตติด่วนที่ไม่อยู่ในวาระการประชุม เรื่องการศึกษาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาฝุ่นละอองที่มีผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบปัญหาฝุ่น ควัน PM 2.5 มากเกินมาตรฐาน และเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างจริงจัง จึงเสนอให้พิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิตามข้อบังคับเสนอญัตติด่วน เพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่เป็นพิษต่อประชาชนทั่วประเทศไทยหรือ PM 2.5 อย่างยั่งยืน เพื่อนำผลการศึกษาส่งต่อให้รัฐบาล และขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาพิจารณา ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้พิจารณาญัตติอีก 11เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องในทำนองเดียวกัน เพื่อพิจารณาพร้อมกัน โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร อนุญาตให้สมาชิกเสนอญัตติด่วนได้ แต่กำชับให้รักษาเวลาในการอภิปราย
น.ส.พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายเสนอญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชน ที่เป็นปัญหากระทบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีแนวโน้มขยายตัวเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งมีที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งการเผาในที่โล่ง เผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า เป็นสาเหตุอันดับ 1 ประกอบกับได้รับผลกระทบจากการเผาจากต่างประเทศ การประกอบกิจการโรงโม่หินในบางจังหวัด รวมถึงกรุงเทพที่มีค่าฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเกิดจากยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล การเผาในพื้นที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และสภาพอากาศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน
นายจิรายุ อภิปรายเสนอญัตติด่วน โดยย้ำว่า ประชาชนมีสิทธิในอากาศที่ดี ซึ่งฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค พยายามระดมความคิดเพื่อหาแนวทางช่วยรัฐบาลแก้ปัญหา โดยนำอุปกรณ์หลายรูปแบบที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อป้องกันฝุ่นละออง มาแสดงให้ที่ประชุมเห็นถึงภาระที่ประชาชนต้องจ่าย และยกตัวอย่างอากาศ ถนนหน้าอาคารรัฐสภา 91 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร เกินกว่า 80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าอันตราย และชี้ว่ารัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยยกตัวอย่างการแก้ปัญหาในประเทศจีน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่โทษประชาชน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ต้องร่วมกันแก้ไข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงเวลา 18.00 น. สมาชิกยังคงอภิปรายกันอยู่.-สำนักข่าวไทย