นนทบุรี 17 ม.ค. – คณะอนุกรรมการกำกับดูแล และกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด พิจารณาชดเชยส่วนต่างข้าว งวดที่ 11 ย้ำมีเพียงข้าวเหนียวที่ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่าง หลังราคาตลาดสูงเกือบ 17,000 บาทต่อตัน
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวกำหนดจ่ายเงินชดเชยทุก 15 วัน ซึ่งงวดที่ 11 กำหนดการชดเชยส่วนต่างราคาข้าว 5 ชนิด ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้ในการจ่ายให้กับเกษตรกร แบ่งเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ จ่ายเงินส่วนต่างตันละ 364.89 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 111.43 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 2,107.25 บาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี จ่ายตันละ 1,338.61 บาท ข้าวเหนียว ราคาในตลาดสูงกว่าเป้าหมาย จึงไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง โดยราคาพุ่งเกือบตันละ 17,000 บาท และยังมีทิศทางสูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงข้าวชนิดอื่นก็มีการจ่ายส่วนต่างลดลง เพราะขณะนี้ข้าวออกสู่ตลาดเกือบหมดแล้ว และสามารถส่งออกได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างพืชทั้ง 5 ชนิด จ่ายให้เกษตรกรแล้วกว่า 2.3 ล้านราย คิดเป็นเงินกว่า 34,000 ล้านบาท จากวงเงินงงประมาณรวมกว่า 67,000 ล้านบาท โดยแยกเป็นข้าวมีการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้วกว่า 800,000 ราย วงเงินรวมกว่า 18,500 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน จ่ายชดเชยแล้วกว่า 300,000 ราย วงเงิน 2,700 ล้านบาท มันสำปะหลัง จ่ายชดเชยแล้วกว่า 5,400 ราย วงเงิน 134 ล้านบาท จากวงเงินรวมโครงการ 9,400 ล้านบาท ยังถือว่าน้อยมาก เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ่ายชดเชยให้เกษตรกรแล้วกว่า 89,000 ราย วงเงินกว่า 320 ล้านบาท ส่วนยางพารา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยไปแล้วกว่า 1 ล้านราย วงเงินกว่า 12,300 ล้านบาทเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย
