กรุงเทพฯ 16 ม.ค. – กรมทางหลวงชนบททุ่มงบปี 63-64 ก่อสร้างถนนสายรอง ถนนลาดยาง ช่วยแก้ปัญหาการจราจร สนับสนุนการท่องเที่ยว เชื่อมโยง EEC
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมให้นโยบายกรมทางหลวงชนบท (ทช.) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมย้ำว่ากระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานและการยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว คมนาคมขนส่ง ตลอดจนการแก้ไขปัญหาจราจรเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย ลดปัญหาค่าเดินทาง ค่าครองชีพ
ขณะนี้ ทช.ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการสำคัญขนาดใหญ่เสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรแล้ว 5 โครงการ ได้แก่ ถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 1098 – ทางหลวงหมายเลข 1 (ตอนที่ 2) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย , สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท , ถนนทางหลวงชนบทสายบ้านสระน้อย – บ้านปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , ขยายถนนกัลปพฤกษ์ (ช่วงกาญจนาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์ และขยายถนนราชพฤกษ์ ระยะที่ 2 (ตอนที่ 3) ช่วงถนนรัตนาธิเบศร์ – ทางหลวงหมายเลข 345
สำหรับปีงบประมาณ 2563 ทช.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 47,472 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามภารกิจและนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ ถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต ถนนเพื่อการแก้ไขปัญหาจราจร ในปริมณฑลและภูมิภาค , ถนนในเขตผังเมืองรวม, ถนนสนับสนุนการท่องเที่ยว, ถนนเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้, ถนนเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่ง, ถนนเพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยโครงการสำคัญในปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างถนนสาย จ4 และ จ5 ผังเมืองรวมเมืองมหาสารคาม ก่อสร้างเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 3.222 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 167.1ล้านบาท ปัจจุบันทำแบบเสร็จแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำราคากลาง คาดว่าจะลงนามในสัญญาภายในเดือนพฤษภาคม 2563
โครงการก่อสร้างถนนสาย ง1 ผังเมืองรวมเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อสร้างเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 7.425 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ใช้งบประมาณในการสร้าง 425.4 ล้านบาท ปัจจุบันได้ดำเนินการทำแบบแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำราคากลาง คาดว่าจะลงนามในสัญญาภายในเดือนพฤษภาคม 2563 และโครงการก่อสร้างถนนสาย นพ.3055 แยก ทล.212 – บ้านเหล่าภูมี อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ก่อสร้างเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 4.287 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 60.9 ล้านบาท ปัจจุบันทำแบบเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำราคากลาง คาดว่าจะลงนามในสัญญาภายในเดือนเมษายน 2563 โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ถึง ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ใช้งบประมาณ 27.5 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดจ้างที่ปรึกษา
ส่วนปี 2564 ทช.ได้เสนอคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ประมาณ 95,000 ล้านบาท โดยมีโครงการที่สำคัญ อาทิ ถนนสาย สป.4002 แยก ทล.3344 – บ้านบางพลีใหญ่ อำเภอเมือง,บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 8.192 กิโลเมตร , ถนนสายแยก ทล.3452 – สี่แยกบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ระยะทาง 25.656 กิโลเมตร, ถนนสายแยก ทล.11 (ช่วงลำปาง-เชียงใหม่ กม.ที่ 3+800) – ทล.1 (กม.ที่ 712+300) อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง , ถนนสาย ง2ผังเมืองรวมเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด , ถนนสายแยก ทล.1020 – บ้านกิ่วแก้ว อำเภอเทิง,จุน จังหวัดเชียงราย,พะเยา
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า สำหรับโครงการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการซ่อมสร้าง ทช.ได้เน้นย้ำเรื่องการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ ซึ่งปี 2563 ทช.จะนำยางพารามาใช้ในงานถนนและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ซึ่ง ทช.ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ทำการทดสอบ rubber fender barriers ทั้งตัวแผ่นยางที่หุ้มแบริเออร์ ตัวคอนกรีตแบริเออร์ และได้ผ่านการทดสอบในการรับน้ำหนัก การคงทนสภาพ ในห้องปฏิบัติการ (lab) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้เริ่มทดสอบให้รถเข้าชนกับ rubber fender barriers โดยใช้มาตรฐาน Manual for Assessing Safety Hardware หรือ MASH ด้วยการนำรถกระบะหนัก 2.270 ตัน พุ่งชนด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. บริเวณรอยต่อระหว่างแบริเออร์ แล้วเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ผลของการทดสอบครั้งแรกปรากฏว่า แรงกระแทกของรถยนต์ กับ rubber fender barriers อยู่ที่ 55.6 G ซึ่งการชนที่เป็นอันตรายต้องมากกว่า 60 G และกาวที่ใช้ยึดตัวแผ่นยางกับแบริเออร์หลุดออกจากกัน ซึ่งจะมีการปรับปรุงกาวโดยใช้กาว Epoxy ที่มีแรงยึดมากกว่า
ส่วนมาตรการลดมลภาวะทางอากาศ PM 2.5 เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยได้จำกัดพื้นที่หน้างานเพื่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อยที่สุด รวมทั้งติดตั้งระบบ High Pressure Water System ปล่อยละอองน้ำเพื่อดักจับฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 จำนวน 6 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ บริเวณสะพานพุทธยอดฟ้า สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานพระราม 7 สะพานภูมิพล ถนนราชพฤกษ์ กม.15+050 และถนนราชพฤกษ์ ช่วงทางต่างระดับสวนเลียบ.-สำนักข่าวไทย