ทำเนียบฯ 14 ม.ค.- ครม.รับทราบสถานการณ์ภัยแล้ง 18 จังหวัด ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน ย้ำรัฐบาลวางแผนเฉพาะหน้าแก้ปัญหา แบ่ง 2 ระยะ ใช้งบรวม 6 พันล้านบาท เดินหน้า 3,378 โครงการ ขุดบ่อบาดาล 1,053 แห่ง เตรียม พร้อมปฏิบัติการฝนหลวง25ลุ่มน้ำ
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.รับทราบสถานการณ์น้ำแล้งระหว่างวันที่ 7 – 13 มกราคม 2563 มีจังหวัดที่ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 มี 18 จังหวัด 89 อำเภอ 507 ตำบล ได้แก่จังหวัด เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี
“รัฐบาลมีแผนเฉพาะหน้าแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ช่วงเร่งด่วน เดือนมกราคม- เมษายน ซึ่งเป็นช่วงแล้งมา และช่วงเดือนพฤษภาคม- กรกฎาคม ซึ่งมีการพยากรณ์ว่าฝนจะตกน้อย ดังนั้นรูปแบบการทำงานต้องตอบสนองความต้องการของสองช่วงระยะเวลา ที่ผ่านมามีข้อสั่งการของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่วันที่29 พฤศจิกายน 2562 ที่แบ่งความรับผิดชอบเป็น 3 กลุ่มภารกิจ ทั้งการพยากรณ์ การบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อจัดทำแผนหาแหล่งน้ำ การขุดบ่อบาดาล ควบคุมการใช้น้ำเพื่อการเกษตร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สทนช.ได้ขออนุมัติงบประมาณไป 3 พันล้านบาท รวมกับงบกระทรวงที่จะใช้ดูแลในช่วงน้ำแล้ง รวมแล้ว 6 พันล้านบาท” น.ส.รัชดา กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการให้สำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค พร้อมทั้งกำหนดมาตรการรับมือ เช่น การจัดทำแผนสำรองน้ำ การหาแหล่งน้ำสำรอง ขุดบ่อบาดาลในพื้นที่ขาดแคลนน้ำดิบ สูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงไปยังระบบผลิตน้ำประปา และกำหนดพื้นที่นำร่องในการพัฒนาแก้มลิงชั่วคราวให้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำถาวร การสนับสนุนมาตรการควบคุมการใช้น้ำเพื่อการเกษตร โดยขอความร่วมจากเกษตรกรไม่ให้ปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำ ประสานกรมฝนหลวงจัดทำฝนหลวงในพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด การเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย และมอบให้หน่วยงานรับผิดชอบกำหนดมาตรการรองรับกรณีการพังทลายของตลิ่ง และการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำและทราบถึงมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ
น.ส.รัชดา กล่าวว่า การรับมือภัยแล้งปี 2563 แบ่งเป็นการดำเนินการบูรณาการหลายกระทรวง และในส่วนที่แต่ละกระทรวงรับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย 3,378โครงการ มีการขุดเจาะบ่อบาดาล 1,053 แห่ง การจัดการแหล่งน้ำผิวดิน การซ่อมแซมระบบประปา กระทรวงเกษตรได้เร่งดำเนินการเรื่องการฟื้นฟูแหล่งน้ำ ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ 421 โครงการ และเตรียมพร้อมปฏิบัติการฝนหลวง 25 ลุ่มน้ำ.-สำนักข่าวไทย