กรมสุขภาพจิต 10 ม.ค.-อธิบดีกรมสุขภาพจิต ขอให้สื่อและประชาชน งดการนำเสนอหรือส่งต่อภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวความรุนแรง จากเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงชิงทรัพย์ร้านทองในห้างสรรพสินค้า ที่ จ.ลพบุรี เพื่อป้องกันความหวาดวิตกของคนในสังคม และเป็นการให้เกียรติต่อผู้ที่เสียชีวิตและครอบครัว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีที่มีการนำเสนอและการส่งต่อเนื้อหาเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน จ.ลพบุรี ในช่วงคืนวานนี้ (9ม.ค.) ว่า กรมสุขภาพจิตได้ติดตามการนำเสนอข่าว ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียลต่างๆอย่างใกล้ชิด พบว่าเหตุการณ์นี้เกิดการแชร์เนื้อหาทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว กระจายไปทางสื่อโซเชียลต่างๆมากมาย โดยเนื้อหาจำนวนมากประกอบไปด้วยภาพความรุนแรงและภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตเข้าใจถึงความรู้สึกของประชาชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ซึ่งเหตุความรุนแรงในลักษณะนี้มักก่อให้เกิดความโกรธแค้น ความโศกเศร้า ความกลัว และความวิตกกังวล ต่อประชาชนในพื้นที่และประชาชนที่ได้รับข่าวสาร แต่การนำเสนอหรือส่งต่อภาพความรุนแรงที่เกินความจำเป็นนั้นไม่มีประโยชน์ใดต่อสังคมโดย รวมทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพจิตต่อสังคมได้ในวงกว้าง โดยอาจทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความกังวลในการใช้ชีวิตประจำวัน คนที่กำลังเครียดหรือมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น เมื่อเห็นภาพที่มีความรุนแรงซ้ำๆ เด็กและเยาวชนที่ยังไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือขาดผู้ปกครองอธิบายในขณะที่รับชมภาพความรุนแรง อาจเกิดผลกระทบทั้งทางด้านจิตใจ เกิดความชินชาต่อความรุนแรง และเกิดพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรงตามมาได้
นอกจากนี้การนำเสนอหรือส่งต่อภาพผู้ได้รับบาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ยังเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และส่งผลกระทบด้านจิตใจต่อญาติและคนรอบข้างของผู้ที่ได้รับผลกระทบได้เป็นอย่างมาก
“กรมสุขภาพจิตขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบทุกคน และกำลังดำเนินการลงพื้นที่เพื่อประเมินผลกระทบและช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบและประชาชนในพื้นที่ ขอให้ประชาชนเป็นกำลังใจกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่วยกันใช้สื่อโซเชียลในเชิงบวกหรือใช้สนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ระมัดระวังการใช้หรือติดตามสื่อโซเชียล รวมถึงงดการส่งต่อภาพผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรง ดูแลและให้คำแนะนำบุตรหลานและเยาวชนที่สามารถเข้าถึงภาพความรุนแรงต่างๆได้ ดูแล และประเมินสภาพจิตใจ ของตนเองและคนรอบข้างที่ได้รับชมภาพความรุนแรง และหากเริ่มสังเกตพบความผิดปกติ เช่น กังวล หดหู่ ท้อแท้ ควรหลีกเลี่ยงการรับชมข่าวที่สะเทือนความรู้สึกช่วงนี้ และสามารถโทรขอรับบริการคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือขอคำปรึกษาจากบุคลากรด้านสุขภาพจิตที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว .-สำนักข่าวไทย