รัฐสภา 10 ม.ค.-กลุ่มผู้ริเริ่มเสนอแก้ไขกฎหมายประมง ยื่นเรื่องต่อประธานสภาเพื่อแก้ไข พ.ร.ก.การประมง 2558 ระบุกฎหมายสร้างผลกระทบให้อุตสาหกรรมประมง ฝ่ายบริหารไม่มีท่าทีจะแก้ไข
เมื่อเวลา 9.30 น. นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ในนามกลุ่มผู้ริเริ่มเสนอแก้ไขกฎหมายประมง ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ประกอบการกิจการประมงใน 39 จังหวัด มายื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ประมง
นายวิชาญ กล่าวว่า พระราชกำหนดการประมง 2558 ที่ออกในช่วง คสช. และบังคับใช้มา 4 ปี สร้างปัญหาอย่างมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมงต่างได้รับผลกระทบ ประกอบกับภาคประชาชนเห็นว่า ฝ่ายบริหารไม่มีท่าทีที่จะแก้ไข จึงขอใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา ในการริเริ่มเสนอกฎหมายดังกล่าว
นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นตัวแทนรับเรื่องกล่าวว่าหลังรับร่างฯ แล้วจะนำไปตรวจสอบ การเสนอกฎหมายจะต้องมีบัญชีผู้ริเริ่มไม่น้อยกว่า 20 คน แต่ในการยื่นครั้งนี้มีผู้ริเริ่ม 39 คน ซึ่งเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วหากเสนอถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งร่างฯ กลับไปให้ผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อให้ได้ 5 หมื่นคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุผลของการเสนอกฎหมายประมงของกลุ่มผู้ริเริ่มฯ เห็นว่า พ.ร.ก.กำหนดการประมง พ.ศ.2558 และ พ.ร.ก.การประมง (ฉบับที่ 2 ) ได้มีการตราขึ้นใช้บังคับอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาอันเนื่องมาจากผลกระทบที่ร้ายแรงของการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกขึ้นบัญชีหรือใบเหลืองของสหภาพยุโรป หรืออาจถูกปรับขึ้นเป็นใบแดง จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและตอบสนองให้เห็นถึงความตั้งใจของประเทศไทยที่พยายามแก้ไขปัญหา จึงได้ตราเป็นพระราชกำหนด เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ทันที
ซึ่งพระราชกำหนดดังกล่าวมีบทบัญญัติบางมาตราที่อาจจะขัดต่อหลักการของอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกหรือหลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในการประกอบอาชีพของประชาชน การเลือกปฏิบัติ ขาดความเสมอภาค และบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งมีบทกำหนดโทษที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำซ้อน และไม่ได้สัดส่วนกับการลงโทษในความผิดทั่วไป เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและชาวประมงผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมการทำประมงให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และเกิดประโยชน์สูงสุดจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้.-สำนักข่าวไทย