จ.พระนครศรีอยุธยา 6 ม.ค.-ศธ.ดันผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาของ กศน.หนองน้ำใส อ.ภาชี จดอนุสิทธิบัตรปกป้องภูมิปัญญาพื้นบ้านอยู่คู่สังคม ไทย ขณะที่ยอดสั่งชามและถุงผ้ารักษ์โลกจากผักตบพุ่งสูงเป็นเท่าตัวหลังรณรงค์ลดใช้พลาสติก
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วยนายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน.และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ฝึกมีชีวิต กศน.ตำบลหนองน้ำใส อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันการจดสิทธิบัตรของผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาของศูนย์ฝึก กศน.ตำบลหนองน้ำใส ให้ได้รับการปกป้องจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
รมช.ศึกษาฯ กล่าวว่า ภายหลังการหารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้ข้อสรุปว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผักตบชวาของศูนย์ฝึก มีชีวิต กศน.ตำบลหนองน้ำใส อ.ภาชี สามารถจดอนุสิทธิบัตรได้ทันที เพราะเข้าหลักเกณฑ์การคิดค้นสร้างสรรค์ที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากซับซ้อน แต่มีประโยชน์ใช้สอยมาก ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการผลักดันเรื่องนี้ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำผักตบชวา วัชพืชไร้ประโยชน์มาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ถูกปกป้องให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ทรงคุณค่าคู่ประเทศไทย อันจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ถือเป็นการผลักดันนโยบายของ กศน.wow ให้เกิดผลสำเร็จอย่างสูงสุด
โดยผลิตผ้าจากเส้นใยผักตบชวา ถูกคิดค้นขึ้นจากศูนย์ฝึกมีชีวิต กศน.ตำบลหนองน้ำใส อ.ภาชี ในปี2560 ที่ต้องการกำจัดผักตบชวาที่เป็นวัชพืชทำให้น้ำเน่าเสีย และสูญเสียงบประมาณมหาศาลในการจัดเก็บ เพื่อแปรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่า สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรครั้งนี้ อาทิ ชามรักษ์โลกทดแทนพลาสติก ถุงผ้า เสื้อผ้า ที่ทำจากเส้นใยผักตบชวา
ด้านนางนาถลดา เข็มทอง ประธานศูนย์ฝึกมีชีวิต กศน.ตำบลหนองน้ำใส อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า หลังเกิดกระแสรักษ์โลกและนโยบายรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก ทำให้ถุงผ้าและชามรักษ์โลกที่ทำจากผักตบชวาของศูนย์ฯ มียอดสั่งซื้อสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จนผลิตเกือบไม่ทัน เพราะทุกขั้นตอนคืองานทำมือทั้งหมดและใช้กำลังคน ยอดสั่งสูงสุดคือ 10,000 ใบต่อวัน แต่ขีดความสามารถในการผลิตได้เพียง 15 โหลต่อวันเท่านั้น อนาคตต้องขยายเครือข่ายเพิ่มเพื่อให้เกิดรายได้กับคนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น การได้จดอนุสิทธิบัตร ถือเป็นความภูมิใจและได้ร่วมอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ตลอดไป.-สำนักข่าวไทย