กรม สบส.24 ธ.ค.-อธิบดีกรม สบส.ย้ำ รพ.เอกชนทุกแห่ง เข้มมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วย พาหนะต้องมีมาตรฐาน เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์ รองรับประชาชนช่วงหยุดยาว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงเดือนธันวาคมที่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญทั้งวันคริสต์มาส หรือปีใหม่นั้น หลายคนวางแผนเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับไปเยี่ยมบ้าน ซึ่งการคมนาคมคับคั่ง สุ่มสี่ยงต่อการเกิดเหตุไม่คาดคิด ทั้งการเกิดอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วย ของผู้มีโรคประจำตัวระหว่างเดินทางฯลฯ ซึ่งสถานพยาบาลอันเป็นที่พึ่งสำคัญของประชาชนในยามเจ็บไข้ได้ป่วยต้องมีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากการควบคุมและดูแลสถานที่ ผู้ให้บริการ ยาและเวชภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดแล้ว การส่งต่อผู้ป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ล่าช้าไปแม้เพียงนาทีเดียวก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน
นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า สำหรับการควบคุม คุณภาพ มาตรฐานในการส่งต่อผู้ป่วยด้วยยานพาหนะของสถานพยาบาลนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 8(พ.ศ.2545) เรื่องมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วย ให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งถือปฏิบัติให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องส่งต่อผู้ป่วยด้วยยานพาหนะและวิธีการที่เหมาะสมปลอดภัย ยานพาหนะในการส่งต่อผู้ป่วยจะต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีพที่จำเป็น อาทิ ชุดใส่ท่อหายใจ ชุดให้ออกซิเจน เครื่องวัดความดันโลหิตและหูฟัง เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ มีความมั่นคงแข็งแรงและมีความสะดวกสบายต่อผู้ป่วยในการเดินทาง และหากเป็นกรณีการรับผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินจะต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพมาดูแลผู้ป่วยด้วยทุกครั้ง หากสถานพยาบาลปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมให้ยานพาหนะในการขนส่งผู้ป่วยมีอุปกรณ์ที่จำเป็นหรือจัดแพทย์ออกไปให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินในระหว่างการนำส่งจากที่พักมายังสถานพยาบาลหรือนำส่งระหว่างสถานพยาบาลด้วยกัน ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการก็จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า เมื่อนำส่งผู้ป่วยถึงสถานพยาบาลแล้ว ขอให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยให้พ้นอันตรายแบะปฏิบัติตามกฎหมายสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด มีการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยว่าอยู่ในเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือไม่ โดยใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นหลักในการประเมิน เพื่อให้การประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) เป็นไปด้วยความโปร่งใส ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งหากผลการประเมินพบว่าผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ(สีแดง) สถานพยาบาลจะต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ
“หากพบสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หากอยู่ในเขต กทม.สามารถร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7057 และในส่วนภูมิภาคร้องเรียนได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” นพ.ธเรศ กล่าว .-สำนักข่าวไทย