กรุงเทพฯ 23 ธ.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งการด่วนกรมชลประทานเพิ่มเครื่องสูบน้ำ ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองช่วยบรรเทาค่าความเค็มลุ่มเจ้าพระยา ด้านกรมชลฯ ยันระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. แต่ถูกสูบไปใช้ปลูกข้าวนาปรัง ล่าสุดปลูกเกือบ 1.4 ล้านไร่ ชี้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาต่ำสุดอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้อธิบดีกรมชลประทานเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านคลองจระเข้สามพันและคลองท่าสาร-บางปลามาช่วยด้านท้ายลุ่มเจ้าพระยาเพิ่ม เนื่องจากในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำต่าง ๆ อาจเกินกว่าเกณฑ์เฝ้าระวังเป็นบางช่วงเวลา ทั้งนี้ แผนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานวางไว้จนถึงสิ้นฤดูแล้งกลางเดือนพฤษภาคม 2563 ต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝนกลางเดือนกรกฎาคม 2563 หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง จึงกำชับให้จัดสรรน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และเลี้ยงพืชต่อเนื่องได้
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานเป็นหน่วยงานปฏิบัติซึ่งได้ดำเนินการจัดสรรน้ำตามแผนที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งวางแผนบริหารจัดการไว้ แต่การใช้น้ำไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากลุ่มเจ้าพระยาแจ้งล่วงหน้าแล้วว่าไม่มีน้ำสนับสนุนการปลูกข้าวนาปรัง แต่ก็มีการปลูกจำนวนมาก นอกจากนี้ เมื่อระบายมาจากท้ายเขื่อนหลัก 4 เขื่อน พบว่า มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำของประชาชนสูบน้ำไประหว่างทาง ซึ่งได้ย้ำให้กรมชลประทานขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ช่วยเข้ามาดูแลให้เข้มงวดขึ้น
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการขอความร่วมมือไปยังฝ่ายปกครองและอปท. ทำให้สถานการณ์น้ำน้อยที่ใกล้เข้าขั้นวิกฤติดีขึ้นตามลำดับ ขณะนี้การสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตามริมแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และเจ้าพระยาลดลง ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์เพิ่มขึ้นสัปดาห์นี้ ส่วนหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสัปดาห์ที่แล้ว ระดับน้ำลดต่ำลงอยู่ที่ +13.10 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) วันนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ +13.19 เมตร รทก. แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเนื่องจากระดับน้ำต่ำกว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่แล้งจัด โดยระดับน้ำหน้าเขื่อนสูงกว่า +14 เมตร รทก.
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาระบายที่อัตรา 70 ลูกบาศก์เมตร (ลบ. ม.) ต่อวินาทีตลอดเวลา เพื่อให้พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมีน้ำเพียงพอและควบคุมค่าความความให้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เพื่อการผลิตน้ำประปา การเพาะปลูกกล้วยไม้ และไม้ผล โดยช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงอาจทำให้ค่าความเค็มสูงขึ้นเป็นบางห้วงเวลา ซึ่งได้สูบน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาสู่คลองพระยาบันลือที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนเพื่อแก้ปัญหา โดยให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและค่าความเค็มอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการผลิตน้ำประปาและภาคการเกษตร
“ขอย้ำต่อเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาว่าไม่ให้ปลูกข้าวนาปรัง ฤดูแล้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ไม่มีแผนให้ปลูกเลย แต่พื้นที่ปลูกมากถึง 1.39 ล้านไร่แล้ว หากเกษตรกรยังคงฝืนปลูก มีความเสี่ยงที่ข้าวจะเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำได้ เนื่องจากกรมชลประทานไม่มีแผนจัดสรรน้ำสนับสนุนการทำนาปรัง สงวนไว้สำหรับการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และเลี้ยงพืชต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าเท่านั้น นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย