กรุงเทพฯ 17 ธ.ค. – อธิบดีกรมชลประทานสั่งการด่วนแก้วิกฤติเขื่อนอุบลรัตน์น้ำน้อยมาก แม้นำน้ำก้นอ่างมาใช้ยังไม่เพียงพอใช้ในจังหวัดมหาสารคาม เร่งสูบน้ำชีย้อนกลับมาเก็บกักไว้หน้าเขื่อนวังยาง เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 6 วางแนวทางบริหารจัดการน้ำเพื่อลดการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เนื่องจากขณะนี้น้ำในอ่างอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก จากความจุเก็บกัก 2,431.30 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันมี 511.40 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 21.03% โดยเป็นน้ำใช้การ -70.27 ล้าน ลบ.ม. คือนำน้ำก้นอ่างมาใช้แล้ว 3.80% ระบายวันละ 550,000 ลบ.ม. ซึ่งหากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป น้ำจะไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
ล่าสุดได้วางมาตรการสูบน้ำจากแม่น้ำชีซึ่งเป็นน้ำต้นทุนของเขื่อนลำปาวย้อนกลับเข้าเติมที่เขื่อนวังยาง ต. ท่าตูม อ. เมืองมหาสารคาม พร้อมกับควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ให้อยู่ที่ระดับ +131 ม.รทก. (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนวังยางอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน จึงจะสามารถติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบสูบย้อนกลับได้ โดยมีแผนการใช้เครื่องสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า (Submersible) 4 เครื่อง อัตราการสูบเครื่องละ 0.5 ลบ.ม./วินาที สูบน้ำได้วันละ 170,000 ลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินการสูบน้ำย้อนกลับประมาณ 35 วัน เริ่มสูบประมาณกลางเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป คาดว่าจะทำให้บริเวณหน้าเขื่อนวังยางสามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนเมืองมหาสารคาม ไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2563
นายศักดิ์สิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ได้ประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างโครงการชลประทานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดยมีเป้าหมายที่ลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ที่จะส่งไปสนับสนุนการอุปโภคบริโภคในอ. เมืองมหาสารคาม โดยจะใช้การสูบน้ำย้อนกลับจากแม่น้ำชีซึ่งเป็นน้ำต้นทุนของเขื่อนลำปาวมาเติมบริเวณหน้าเขื่อนวังยางตามข้อสั่งการของอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งจะลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ได้วันละ 50,000 ลบ.ม.
ทั้งนี้ หากช่วงกลางถึงปลายฤดูแล้งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในเมืองมหาสารคามยังไม่เพียงพอ ได้วางแผนระบายจากเขื่อนลำปาวในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่เกษตรกรในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนลำปาวไม่มีต้องการน้ำในการทำการเกษตร ซึ่งจะระบายน้ำจากคลอง 4R-RMC ผ่านอาคารระบายน้ำทิ้ง (wasteway) ฃงกุดซวย จากนั้นจะระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีผ่าน ประตูระบายน้ำพนังชีซึ่งจะช่วยเติมน้ำบริเวณหน้าเขื่อนวังยางได้อีกประมาณ 1 ล้านลบ.ม.
“ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า” นายศักดิ์สิริกล่าว.-สำนักข่าวไทย