กรุงเทพฯ 12 ธ.ค. – คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บมจ.บีซีพีจี เปิดใช้โซลาร์ลอยน้ำ ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง ส่งผลให้เป็นพิพิธภัณฑ์ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์แห่งแรกของโลก ด้วยการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้เอง
นายธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า บีซีพีจีได้ติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำให้กับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง กำลังผลิต 39.5 กิโลวัตต์ เป็นการติดตั้งให้ฟรี เพื่อให้ ทางคณะได้ศึกษาผลที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับโซลาร์ลอยน้ำที่ประเทศไทยกำลังส่งเสริมให้เกิดขึ้น เช่น โครงการโซลาร์ลอยน้ำ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2,725 เมกะวัตต์ โครงการของภาคเอกชนอื่น ๆ รวมทั้งโครงการอ่างเก็บน้ำของภาครัฐที่จะแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่ตั้งงบประมาณ 50,000 ล้านบาท หากมีการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำแล้วก็สามารถใช้ผลศึกษาวิจัยไปใช้ได้ว่าเมื่อติดตั้งแล้วจะมีผลต่อสิ่งแวดล้อม และการทำประมงอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำครั้งนี้ ทำให้ช่วงกลางวันทางพิพิธภัณฑ์ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แต่อย่างใด ทำให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์แห่งแรกของโลก และยังสามารถจ่ายไฟไปยังอาคารอื่น ๆ ได้อีกด้วย โดยประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้คาดว่าปีละ 244,550 บาท หากอายุเฉลี่ยแผงโซลาร์ คือ 25 ปี คณะประมงประหยัดเงินค่าไฟได้เกิน 6.1 ล้านบาท เงินที่ประหยัด ก็จะสามารถนำไปทำอะไรเพื่อการเรียนการสอนนิสิตได้อีกมาก และเมื่อคำนวณการลดการใช้ไฟฟ้าจากฟอสซิล หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 58.4 ตัน/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 43.8 ไร่
“การเปิดพิพิธภัณฑ์ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์แห่งแรก โดยใช้โซลาร์ลอยน้ำผลิตไฟฟ้าเป็นโปรเจ็คในฝันที่สุดท้ายกลายเป็นจริงได้ เมื่อไม่ใช้ไฟฟ้าจากสายที่ส่วนใหญ่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เท่ากับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เปิดจอใช้มา 5 วัน ลดได้ 0.8 ตันคาร์บอน คิดเป็นต่อปี ลดได้ 58.4 ตัน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 43.8 ไร่ (ไร่ละ 100 ต้น/คิดจากตัวเลขเฉลี่ย 5 วัน อาจผันแปรได้ตามช่วงเวลา” นายธรณ์ ระบุ
นายธรณ์ ระบุ ในวันนี้ไฟจากโซลาร์ลอยน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวของ กทม.กำลังหล่อเลี้ยงพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาปลาบู่มหิดลตัวอย่างแรกที่ค้นพบในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 6 โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เสด็จมาทอดพระเนตรเมื่อปี 2508 และยังจะส่งไฟจากฟ้าไปสู่กระชังทดลองการเลี้ยงปลานิลที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ไว้แก่คนไทย โครงการนี้ไม่ใช้เงินภาษี หรือเงินค่าเรียนจากนิสิตเลย เพราะทางบีซีพีจีสนับสนุนทั้งหมด รวมถึงกลุ่มเพื่อนธรณ์ที่สนับสนุนเสื้อและถุง ซึ่งจะนำเงินส่วนหนึ่งไปทำป้ายยักษ์ติดไว้เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโลกร้อน ไฟฟ้า ปลาบู่ และปลานิล โดยทั้งหมดนี้เกิดจากแนวคิดที่หวังจากตามรอยพระองค์ท่านไปให้สุด ๆ โดยเชื่อมต่อคำว่าโลกร้อนกับปลานิลให้จงได้
“ทั้งหมดนี้เกิดจากไอเดียในค่ำคืนหนึ่ง ด้วยหวังจากตามรอยพระองค์ท่านไปให้สุด ๆ โดยเชื่อมต่อคำว่าโลกร้อนกับปลานิลให้จงได้ “นายธรณ์ กล่าว
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บีซีพีจี กล่าวว่า การติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) ด้วยการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้เองทั้งหมด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ที่มีสภาพใกล้เคียงกับหนองบึงส่วนใหญ่ของไทย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ง่าย อีกทั้งที่คณะประมงยังมีการศึกษาวิจัยด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดใต้แผงโซลาร์ลอยน้ำ และเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลที่ได้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการใช้นวัตกรรมแผงโซลาร์ลอยน้ำในประเทศไทยสำหรับการทำเกษตรกรรม หรือกสิกรรมในอนาคต
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแหล่งเก็บรักษาสิ่งมีชีวิตในน้ำหลายประเภท ทั้งสัตว์น้ำ ปลาชนิดต่าง ๆ สาหร่ายชนิดต่างๆ รวมทั้งเครื่องมือประมงพื้นบ้าน นับเป็นพิพิธภัณฑ์ประมงที่ดีที่สุดในอาเซียน เก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในน้ำถึง 350,000 ตัวอย่าง .-สำนักข่าวไทย