กรุงเทพฯ 11 ธ.ค. – บอร์ด รฟม.เคาะลดค่าโดยสารสายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย ไม่มีออฟพีค เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชน
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะประธานคณะกรรมการ การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังประชุมว่า หลังจากกระทรวงคมนาคมมีความเห็นเรื่องการปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกำกับดูแลของ รฟม. ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะปรับลดราคาสายสีม่วงคิดราคาสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ซึ่งกระทรวงคมนาคมเห็นว่าไม่ควรจำกัดช่วงเวลาเป็นช่วงนอกเวลาเร่งด่วนหรือออฟพีค เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์แท้จริง
ดังนั้น ในวันนี้ที่ประชุมจึงได้มีมติปรับลดราคาตามนโยบายดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคมถึง 31 มีนาคม 2563 โดยการปรับลดราคาสายสีม่วงดังกล่าว จากการศึกษาเบื้องต้นประเมินว่าจะทำให้มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้นประมาณ 17.8% ของผู้โดยสารสายสีม่วงที่ปัจจุบันเฉลี่ยวันละ 60,000 คน
ขณะที่ผลการลดราคาดังกล่าวจากการประเมินตัวเลขเบื้องต้นจะทำให้รายได้ รฟม.ที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) จะต้องเก็บและนำส่งให้ รฟม.ลดลงเฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อชั่งน้ำหนักผลดีจากตัวเลขการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ระบุว่าการปรับลดราคาครั้งนี้จะส่งผลให้มีประโยชน์ด้านคมนาคมขนส่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 38 ล้านบาท 5 ด้าน คือ 1.ลดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถส่วนตัว 2.ลดเวลาเดินทาง 3.ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ 4.ลดการสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม และ 5.ความสุขของประชาชนผู้เดินทาง
ทั้งนี้ หลังจากคณะกรรมการมีมติวันนี้จะนำเสนอผลประชุมให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาวันที่ 13 ธันวาคม เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณา ครม.วันที่ 17 ธันวาคมนี้ เนื่องจากการลดรายได้ดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยการเงินการคลังของกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจาก ครม.ด้วย
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่ารายได้ที่ลดลงเดือนละ 15 ล้านบาทนั้น รฟม.จะนำรายได้ที่ได้รับส่วนแบ่งค่าสัมปทานและรายได้เชิงพาณิชย์จาก BEM นำมาชดเชย ซึ่งปกติจะได้รับปีละ 3,500 ล้านบาท ส่วนหลังจากบอร์ดมีมติปรับลดราคาสายสีม่วงแล้ว สายสีน้ำเงินจะยังมีตั๋วเที่ยวต่อเดือนตามที่บอร์ดมีมติอนุมัติเมื่อครั้งที่ผ่านมาหรือไม่นั้น เมื่อสีม่วงปรับลดราคาทำให้ผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสายสีม่วงและสีน้ำเงินต้องเสียค่าโดยสารสูงสุด 48 บาท รฟม.จะรอดูผลการอนุมัติและความเห็นต่าง ๆ จาก ครม.อีกครั้ง รวมทั้ง ความเห็นของคู่สัญญาสัมปทาน หรือ BEM ว่าเห็นด้วยกับแนวทางให้มีตั๋วเที่ยวต่อหรือไม่ หากเห็นด้วย ก็จะพิจารณาต่อไปในอนาคต และที่สำคัญรถไฟฟ้าสีน้ำเงินปัจจันมีการเปิดส่วนต่อขยายถึงสถานีสิรินธร ซึ่ง รฟม.จะมีการติดตามตัวเลขผู้โดยสารว่าเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับอัตราค่าโดยสารสีน้ำเงินต่อไป