ตาก 2 ธ.ค. – กฟผ.ร่วมเครือข่ายพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำบริเวณ “เขื่อน 7 พระนาม 3 โรงไฟฟ้า” สร้างความมั่นคงตามเป้าหมายความยั่งยืนโลก (SDGs)
วันนี้ (2 ธ.ค.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงพลังงาน และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิรักษ์ดินน้ำ Earth Safe Foundation และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก ภายใต้กรอบระยะเวลา 3 ปี เป็นการแสดงถึงความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานที่มุ่งแก้ปัญหา 3 ประเด็นหลัก คือ น้ำ อาหาร และพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงตามเป้าหมายความยั่งยืนโลก (SDGs) โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งต่อไป
ทั้งนี้ กฟผ.มีแผนน้อมนำศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำในบริเวณ “เขื่อน 7 พระนาม 3 โรงไฟฟ้า” ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก, เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์, เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี, เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี, เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น, เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง, โรงไฟฟ้าวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ภายในงานยังมีพิธีมอบ “52,000 ฝายถวายพ่อ” ซึ่งดำเนินการโดยชาวแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการช่วยดูแลและรักษาพื้นที่ต้นน้ำ ป้องกันไม่ให้เกิดตะกอนดินตกลงไปในแหล่งน้ำและเกิดการทับถม จนก่อให้เกิดปัญหาในพื้นที่ปลายน้ำทำให้มีน้ำตื้นเขิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ของเขื่อนภูมิพลต่อไป
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนทุกโครงการของ กฟผ. อาทิ โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการปลูกป่า กฟผ.ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 และน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชกรณียกิจของพระบรมราชชนก มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านคน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานกำลังเร่งสรุปแผนงานส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานวันที่ 4 ธันวาคมนี้ มีเป้าหมายหลักจะสร้างเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้พ้นขีดความยากจน หรือยกระดับให้มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี จากปัจจุบันมี 30,000 บาทต่อปี โดยมีประชากรกลุ่มดังกล่าวประมาณ 11-12 ล้านคน
“เบื้องต้นได้คำนวณรายได้ คาดว่าชาวบ้านที่ร่วมโครงการจะมีรายได้จากการขายพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ ต้นไผ่ จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี ซึ่งคำนวณจากเกษตรกรกลุ่มนี้จะมีการปลูกพืชพลังงานได้ผลผลิต 50 -60 ตันต่อไร่ ขายได้ในราคา 40 สตางค์ต่อกิโลกรัม จำนวน 5 ไร่ สามารถตัดได้ 3 ครั้งต่อปี ซึ่งนอกจากชุมชนจะได้รายได้แล้ว ยังสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเศษฝุ่นขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5) จากการเผาเศษพืชต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด” นายสุรพร กล่าว
นายวิบูลย์ ยังกล่าวถึงแนวทางส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนว่า กฟผ.สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน หลังจากได้นำเสนอแผนจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว โดยเบื้องต้น กฟผ.มีแผนที่จะส่งเสริมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนบริเวณพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าและเขื่อนของ กฟผ. กำลังการผลิตรวมประมาณ 100-200 เมกะวัตต์ ส่วนแต่ละโรงไฟฟ้าจะมีกำลังการผลิตเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับศักยภาพของวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่.-สำนักข่าวไทย