ราชบุรี 1 ธ.ค. – สกพ.ย้ำก่อนอนุญาตชิปเปอร์รายใหม่นำเข้าแอลเอ็นจี ต้องพิจารณารอบด้าน ทั้งค่าไฟฟ้าและความมั่นคง พร้อมทำแผน 5 ปี 5 พันล้านบาท เน้นสร้างการแข่งขันดูแลผู้บริโภค
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กล่าวว่า แม้จะมีเอกชนบางรายสนใจขอยื่นเป็นผู้นำเข้าและจัดหาหรือ Shipper ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ปัจจุบันมีเพียง บมจ.ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้รับใบอนุญาตแล้วนั้น หากจะอนุญาตใหม่ ทาง สกพ.ต้องขอดูภาพรวมนโยบายจากกระทรวงพลังงานว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งเรื่องราคาก๊าซฯ ที่นำเข้ามาแล้วจะคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างไร การนำเข้ามีผลด้านความมั่นคงพลังงานหรือไม่ โดยภาพต่าง ๆ น่าจะชัดเจน หลัง กฟผ.นำเข้าในรูปแบบราคาตลาดจรหรือสป็อตทั้ง 2 ลำเรือในเดือนธันวาคม และเมษายนที่จะถึงนี้
ขณะเดียวกัน สกพ.อยู่ระหว่างการปรับปรุงระเบียบการดูแลผู้บริหารท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (TSO) เพื่อรองรับนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส มีอิสระ และมีประสิทธิภาพ โดยแม้จะไม่มีการแยกจัดตั้งบริษัทออกจาก บมจ.ปตท.แต่ก็ต้องแยกบัญชีให้โปร่งใส ตรวจสอบได้
“ต้องดูว่าราคานำเข้าแอลเอ็นจีของรายใหม่ต้องแยกจากราคาตลาดรวม ( pool) หรือไม่ จากที่ Pool เป็นการรวมราคาอ่าวไทย เมียนมา และการนำเข้าแอลเอ็นจี โดย ปตท.มาหารเฉลี่ย ขณะที่ สกพ. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (สนพ.) ก็จะดูร่วมกันว่าจะบริหารสัญญาซื้อขายก๊าซ สัญญาเก่าและใหม่อย่างไรให้เป็นธรรม” นายคมกฤช กล่าว
นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.ยังอยู่ระหว่างการทบทวนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2561-2564 ให้ทันสมัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับกิจการพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะใช้เงินงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์ 5,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท ในการดำเนินงานให้ทันสมัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับกิจการพลังงานของประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2563 – 2567) มีวัตถุประสงค์หลัก เช่น การส่งเสริมให้บริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง และมีความเป็นธรรม ต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต, การปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานทั้งด้านอัตราค่าบริการ และคุณภาพการให้บริการ, การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน และป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบในการประกอบกิจการพลังงาน
รวมทั้งส่งเสริมให้การบริการของระบบโครงข่ายพลังงานเป็นไปด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม, ส่งเสริมให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้พลังงาน, ปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรในการประกอบกิจการพลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด รวมทั้งการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ, ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และการบริหารจัดการองค์กรที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพด้านการกำกับกิจการพลังงาน
โดยมีเป้าหมาย อาทิ ให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องมีความเชื่อถือต่อการดำเนินงานของสำนักงาน กกพ. ไม่ต่ำกว่า 60%, ผู้ใช้บริการมีความพอใจต่อคุณภาพบริการไม่ต่ำกว่า 80% และมาตรฐานคุณภาพบริการไฟฟ้าไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งคุณภาพไฟฟ้าไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด, กำกับการส่งเสริมการแข่งขันได้ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน, ประกาศหลักเกณฑ์ข้อกำหนดการใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่ 3 ภายในปี 2564 เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย