กรุงเทพฯ 20 พ.ย.- นักวิชาการ มองกรณี ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของ “ธนาธร” สิ้นสุด ไม่ถึงขั้นการยุบพรรค ชี้ต้องใช้บรรทัดฐานเดียวกันพิจารณา ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ชี้กรณีนี้ไม่ถึงขั้นดึงมวลชนลงถนนได้
นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จากกรณีการถือหุ้นสื่อบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ขณะลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ว่า กรณีนี้ไม่ถึงขั้นนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล หากจะขยายผลคงจะไกลเกินไป ซึ่งหากจะนำไปสู่ การยุบพรรคต้องโยงไป 3 ระดับ คือ ผลจากศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ต้องนำไปสู่ การพิจารณาในมาตรา 151 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกอบกับมาตรา 132 ว่ามีการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต โดยตัวนายธนาธร ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติแต่ยังลงรับสมัครเลือกตั้งไปจนถึงกรรมการบริหารพรรค แต่หากจะขยายผลไปก็ค่อนข้างไกล
”ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องสิ้นสุดเฉพาะตัว ไม่ถึงขั้นว่ารู้อยู่แล้ว ว่าตนเองขาดคุณสมบัติ และยังลงรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่โทษทางอาญา และไม่ใช่เรื่องที่กรรมการบริหารพรรค และตัวนายธนาธร รู้อยู่แล้ว จึงตั้งใจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม คงไม่ไปไกลขนาดนั้น แต่หากเป็นกรณี ที่นายธนาธร ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน ประเด็นนี้อาจนำไปสู่การยุบพรรค เพราะส่วนตัวมองว่าเป็นการใช้เงินผิดประเภท ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ไม่มีข้อกำหนดว่าเป็นเงินบริจาคหรือไม่”นายเจษฎ์ กล่าว
นายเจษฎ์ ยังกล่าวถึงผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการถือครองหุ้นสื่อ ว่า เรื่องนี้ควรจะเป็นบรรทัดฐาน ในการพิจารณาคดีการถือครองหุ้นสื่อของ ส.ส.คนอื่น ๆ ด้วย
ส่วนหลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะนำไปสู่การดึงมวลชนลงสู่ถนนหรือไม่นั้น นายเจษฎ์ กล่าวว่า ไม่ถึงขั้นที่จะดึงมวลชนลงถนนได้ แต่อาจจะกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกร่วมของมวลชนได้ เพราะพรรคอนาคตใหม่มีการดำเนินการรวมมวลชนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ยังมีคดีอีกหลายคดี เช่น กรณีที่น่ากังวลคือการให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน ที่อาจจะนำไปสู่การยุบพรรคได้ จุดนี้อาจจะนำพาอารมณ์ของมวลชนลงไปสู่ถนนได้
ซึ่งวันนี้เป็นแค่กรณีของนายธนาธร แต่หากวันข้างหน้า เชื่อมโยงเกี่ยวข้องไปถึงนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และนางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ อาจจะกระตุ้นอารมณ์ของคนได้มากขึ้น
ด้านนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช มองว่า กรณีของการถือครองหุ้นสื่อ นายธนาธร อาจนำไปสู่การยุบพรรคได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 132 ว่ามีการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม และกรรมการบริหารพรรครับรู้จะนำไปสู่การยุบพรรคได้ แต่ ต้องดูว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะดำเนินการไปถึงโดนศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งมาตรา 132 ต้องวินิจฉัยโดยละเอียดว่าการกระทำใด คือทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม
นายยุทธพร กล่าวว่า หากมองว่านายธนาธรเป็นหัวหน้าพรรคหรือเป็นแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรี จะนำมาซึ่งความไม่เสมอภาคในการเลือกตั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยตีความ หรือรวมไปถึงมาตรา 151 เรื่องการดำเนินคดีอาญา ว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง จะนำไปสู่การร้องศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้มีโทษสูง ถึงขั้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 20 ปี ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต.ด้วย ทั้งนี้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นบรรทัดฐานเกี่ยวกับการพิจารณาคดีการถือครองหุ้นสื่อ ของ ส.ส.ที่อยู่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือมีผลผูกพันกับทุกองค์กร
นายยุทธพร มองว่า การเคลื่อนไหวจนนำไปสู่การชุมนุมตามท้องถนนคงไม่เกิดขึ้นเหมือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะบริบททางการเมืองเปลี่ยนไป โอกาสจะเป็นการเมืองแบบท้องถนนคงไม่เกิดขึ้นได้ง่าย ส่วนทิศทางของพรรคอนาคตใหม่ยังคงมีโจทก์ต้องแก้ไขปัญหาอีกหลายเรื่อง เพราะมีคดีเกือบ 20 คดี ความเป็นไปได้ที่จะถูกยุบพรรคก็มีเช่นกัน รวมถึงความเสี่ยงที่ นายธนาธร จะถูกดำเนินคดีทางอาญาก็ยังมีอยู่ เพียงแต่คำวินิจฉัยวันนี้อาจเป็นการสร้างทางเลือกให้กับพรรคอนาคตใหม่มากขึ้น ทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น นายธนาธร สามารถลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.เขต หรือ ลงรับสมัครเลือกตั้งในระดับการเมืองท้องถิ่นเช่น ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หรือจะใช้บทบาทการเป็นกรรมาธิการ วิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ หรือกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไข รัฐธรรมนูญ.-สำนักข่าวไทย