กทม. 19 พ.ย.-กรณีข่าวดาราหนุ่มกับนักศึกษาฝึกงานและถูกโยงไปถึงเรื่องเยลลี่ว่าจะมีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่ หากกรณีบุคคลทั่วไปเมื่อไปซื้อเยลลี่มารับประทาน เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเยลลี่นั้นมีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่ ติดตามจากรายงาน
เยลลี่ยี่ห้อหนึ่งมีบรรจุภัณฑ์สีเขียว ผลิตจากต่างประเทศ เป็นเยลลี่กัญชาที่ตำรวจเปิดเผยว่าน่าจะเป็นยี่ห้อที่นักศึกษาสาวให้การว่ารับประทานเข้าไป ก่อนจะมีอาการมึนหัว หัวใจเต้นแรง โดยซองขนมเยลลี่กัญชายี่ห้อนี้ระบุคำว่า Satiwa 300 มิลลิกรัม THC กำกับไว้ด้วย
นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู และหัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจและปอด โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ซึ่งศึกษาการใช้กัญชาในทางการแพทย์ อธิบายคำที่กำกับไว้ในซองเยลลี่ว่า satiwa เป็นสายพันธุ์กัญชา ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย
ส่วน THC เป็นสารไม่ดีที่สกัดได้จากกัญชา มีมากในกัญชาสายพันธุ์ satiwa มีฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้ม ประสาทหลอน หากใช้นานทำให้เสพติดได้ ส่วนสารดีที่สกัดได้จากกัญชา คือสาร cbd ช่วยลดอาการปวด ช่วยในการนอนหลับ ไม่ทำให้เสพติด
ในซองเยลลี่ที่กำลังเป็นข่าว ซึ่งระบุ satiwa 300 มิลลิกรัม THC ก็คือการใส่สาร THC ลงไป 300 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมาก มีผลต่อร่างกาย ทำให้หัวใจเต้นแรง ความดันตก เกิดอาการทางประสาทได้
บางรัฐในสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้สาร cbd มีการเอาไปผสมในผลิตภัณฑ์อาหารหลายอย่าง ในประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้นำไปผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร ให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์และการวิจัย ซึ่งทำให้มีการซื้อขายน้ำมันกัญชากันมากขึ้น
แพทย์หญิงวรินทร พิพัฒน์เจริญชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันกัลยาราชนครินทร์ บอกว่าน้ำมันกัญชาที่ขายในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นสาร tcl สูง การซื้อมาใช้เอง ไม่ว่าจะหยดใต้ลิ้น หรือผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร อาจใช้ผิดขนาด ทำให้เกิดอันตรายได้
แม้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผสมสารสกัดจากกัญชาจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและนำเข้าจำหน่าย แต่ปัจจุบันพบการขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในออนไลน์ ซึ่งหากไม่ศึกษาให้รู้ว่าสารสกัดกัญชาแต่ละสารมีคุณและโทษอย่างไร อาจได้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารเสพติด คือ THC แทนที่จะเป็นสารดีที่ช่วยบรรเทาโรคภัยอย่างสาร cbd.-สำนักข่าวไทย