14 พ.ย. – เรื่องการครอบครองที่ดินในประเทศไทย หลังจากเกิดประเด็นที่เป็นเรื่องกรณี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกตรวจสอบเรื่องการถือครองที่ดิน 1,706 ไร่
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ บอกว่า ภ.บ.ท.5 หรือ ภ.บ.ท.6 ไม่ถือว่าเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน และไม่ถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนที่มีเอกสารนี้ครอบครองพื้นที่ตรงนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ตามกฎหมาย ที่ดินมี 2 ส่วนที่เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ กับส่วนที่เป็นเอกสารการครอบครองที่ดิน
ในกลุ่มแรกเป็นกรรมสิทธิ์ จะเป็นกลุ่มโฉนดทั้งหมด เช่น โฉนดที่ดิน โฉนดตราจอง หรือตราจองที่กำหนดว่าเป็นพื้นที่ทำประโยชน์
ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับหนังสือแสดงสิทธิการครอบครอง เช่น ส.ค.1 น.ส.2 ก น.ส.3 ก. เป็นหนังสือการรับรองประโยชน์ นอกนั้นไม่ถือเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายที่ดิน
สำหรับ ภ.บ.ท. เป็นแบบแสดงรายการที่ดิน ที่ประชาชนที่เข้าไปทำกินอยู่ในท้องที่นั้นๆ ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) ก็จะมีแบบแสดงรายการที่ดินที่เรียกว่า ภ.บ.ท.5 และจากนั้นจะมีการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ ออกใบเสร็จที่เรียกว่า ภ.บ.ท.6
ที่ผ่านมาพบว่าที่ดินหลายแปลงไม่ได้มีเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน เขาพยายามจะไปเสียภาษีบำรุงท้องที่เพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายไม่ได้รับรอง ไม่ว่าจะเป็นที่ดินอะไร แต่ต้องเป็นที่ดินที่ได้มาถูกต้องตามกฎหมาย
อธิบดีกรมป่าไม้อธิบายถึงการใช้เล่ห์เหลี่ยมของผู้ครอบครองที่ทำกินที่พยายามใช้เอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่มาแอบอ้างเป็นเอกสารสิทธิการถือครองที่ดิน ทั้งที่ความจริงแล้วทำไม่ได้
โดยกรมการปกครองได้มีหนังสือแจ้งเวียนตั้งแต่ปี 2551 ว่าที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินของรัฐ ไม่สามารถแจ้งการเสียภาษีบำรุงท้องที่ได้ และเอกสารดังกล่าวไม่สามารถนำมารับรองสิทธิในการครอบครองที่ดินได้ด้วย ซึ่งเป็นการแอบอ้างว่าที่ดินแปลงนี้ได้มาถูกต้อง ทั้งที่ไม่สามารถนำมาแอบอ้างได้เลย
สรุปว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่สามารถนำมาแสดงสิทธิการครอบครองที่ดินได้ ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551 กรมการปกครองได้มีหนังสือเวียนไปทุกจังหวัดระบุว่า ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินของรัฐ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ไม่สามารถไปแจ้งเสียภาษีบำรุงท้องที่ได้
อธิบดีกรมป่าไม้ยังแสดงความเป็นห่วงประชาชนที่ไม่มีความรู้เรื่องเอกสารสิทธิที่ดินแต่ละประเภทจนอาจตกเป็นเหยื่อของผู้นำที่ดิน ภ.บ.ท.5 มาขาย ซึ่งภายหลังเมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวเข้ามาตรวจสอบแล้วจะถูกขับไล่โดยไม่ได้รับค่าชดเชย จึงแนะนำว่า ทุกครั้งที่ติดต่อซื้อขายที่ดินแปลงไหน ควรตรวจสอบเอกสารสิทธิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดเสมอ
อธิบดีกรมป่าไม้ แนะว่าควรตรวจสอบให้ถี่ถ้วน มิฉะนั้นมีความเสี่ยงที่จะเสียทรัพย์สิน และเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอีกด้วย หากพบเห็นการซื้อขายที่ดิน ภ.บ.ท.5 โปรดแจ้งข้อมูลได้ที่เพจศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือติดต่อสายด่วน 1310 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนกรณีการครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 พื้นที่หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ของ ส.ส.คนดังเมืองราชบุรี อธิบดีกรมป่าไม้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ตรวจสอบรายการที่ดิน ภ.บ.ท.5 ที่มีผู้แจ้งต่อ ป.ป.ช.แล้ว โดยตรวจสอบแนวเขตป่าว่าพิกัดอยู่ในบริเวณใด พื้นที่เดียวกับที่ น.ส.ปารีณา ครอบครองหรือไม่ แต่ผลการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ตำแหน่งที่ตั้งพื้นที่หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 58 แปลงเนื้อที่ 1,706 ไร่เศษ ลักษณะการใช้ประโยชน์บางส่วนเป็นที่ตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่ชื่อ เขาสนฟาร์ม จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณที่ตั้งโรงเลี้ยงไก่เขาสนฟาร์ม เกือบทั้งหมด เดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี พ.ศ.2527 ปัจจุบันกรมป่าไม้ส่งมอบให้ ส.ป.ก. ประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเมื่อปี 2554 หลังจากนี้จะตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม และต้องเป็นหน้าที่ของ ส.ป.ก.ที่จะเข้ามาตรวจสอบต่อ โดยการอ้างว่าเสียภาษีบำรุงท้องที่มากว่า 10 ปี แต่ตามหลักการแล้วเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบเพื่อยืนยันพิกัด และต้องดูข้อกฎหมายเพิ่มเติม เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นแนวป่าที่กรมป่าไม้มอบให้ ส.ป.ก. และถึงแม้จะเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ปารีณาก็ไม่น่าจะมีคุณสมบัติครอบครอง
สำหรับเรื่องกฎระเบียบที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดิน ส.ป.ก. คือที่ดินที่รัฐยกให้เกษตรกรเพื่อเป็นที่ดินทำกิน หรือตราคำประกาศที่เรียกกันว่า ส.ป.ก. 4-01
โดยกฎระเบียบการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. 4-01
-ผู้ครอบครองจะต้องเป็นเกษตรกร หรือมีประสบการณ์การเกษตร
-พื้นที่ดินจะต้องใช้เพื่อการเกษตรจะใช้เพื่อประโยชน์อื่นใดไม่ได้
-ห้ามมิให้ขายหรือเปลี่ยนมือไปให้ผู้อื่น แต่เป็นมรดกตกทอดถึงทายาทได้
-ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จะต้องคืนให้กับรัฐ
-ที่ดินในเขตอุทยาน หรือในเขตป่าสงวน หรือที่ลาด หรือที่เนิน 35 ดีกรีหรือมากกว่า ไม่สามารถครอบครองได้ (อยู่ในพื้นที่ภูเขาและเทือกเขาซึ่งมีความลาดชันมากกว่าร้อยละ 35)
-บุคคลมีสิทธิครอบครองที่ดินไม่เกิน 25 ไร่ ครอบครัวมีสิทธิครอบครองไม่เกิน 50 ไร่
ส่วนที่ดินในเขตอุทยาน ที่ดินในเขตป่าไม้ ที่ดินในเขตภูเขาและรอบภูเขาที่เป็นที่ลาดชัน 35 ดีกรีหรือมากกว่าไม่สามารถครอบครองได้. – สำนักข่าวไทย