กทม.7พ.ย.– ตอนนี้ หลายประเทศเริ่มมีคำสั่งแบนรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเจ้ารถชนิดนี้แล้ว ขณะที่ประเทศไทยกฎหมายระบุชัด รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เป็นพาหนะประเภทเดียวกับรถจักรยานยนต์ ขี่บนถนนหลวงได้แต่ต้องได้รับอนุญาต จากขนส่งฯเสียก่อน
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา ฐานะเชี่ยวชาญกฎหมายจราจร กล่าวว่า พิจารณาตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 4 กำหนดความหมายของรถจักรยานยนต์ คือ รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ หรือกำลังไฟฟ้าและมีล้อไม่เกินสองล้อ ถ้ามีพ่วงข้าง มีล้อเพิ่มอีกไม่เกินหนึ่งล้อ และให้หมายความรวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์ด้วย
รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า และมีสองล้อ จึงเข้าข่ายเป็นรถจักรยานยนต์ การนำมาขี่บนถนนสาธารณะ เจ้าของต้องไปขอจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้ได้ป้ายทะเบียนและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี หรือป้ายวงกลม และ เสีย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถยนต์ให้ถูกต้อง จึงจะนำมาวิ่งบบนท้องถนนได้ โดยผู้ขับขี่ก็จะต้องสวมหมวกนิรภัย และปฏิบัติตามกฎหมายจราจร เช่นเดียวกับการขี่รถจักรยานยนต์
แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่พบว่ามีการนำรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ขอจดทะเบียนกับขนส่งฯ ได้ ดังนั้น หากพบมีการนำมาขี่บนท้องถนน จึงมีความผิดชัดเจน ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ข้อหา “นำรถจักรยานยนต์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนใช้ในทาง” มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หากนำไปขี่บนฟุตบาท จะผิดเด้งที่สอง เหมือนกับการขี่จักรยานยนต์ บนทางเท้า ใครที่มีรถประเภทนี้อยู่แล้ว จะขี่ได้เฉพาะพื้นที่เอกชน หรือตามที่พักของตัวเองเท่านั้น เช่น ตามหมูบ้าน หรือลานจอดรถห้างสรรพสินค้า
พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวอีกว่า ประเทศสิงค์โปร์ เคยอนุญาติให้ใช้รถสกู๊ดเตอร์ไฟฟ้าในที่สาธารณะ แต่ภายหลังเกิดอันตรายและมีพลเมืองสิงค์โปร์เสียชีวิต จึงให้ยกเลิกตั้งแต่ปีหน้า รวมถึงหลาย ๆ ประเทศ ก็เริ่มศึกษาปัญหาอย่างจริงจัง สำหรับประเทศไทย การนำมาขี่ในที่สาธารณะถือว่ามีความผิดแน่นอน ตำรวจจับกุมและให้ใบสั่งได้ แต่เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหม่เจ้าหน้าที่จึงจะเน้นตักเตือนทำความเข้าใจก่อน เว้นแต่มีเจตนาจะใช้อย่างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจริง ๆ และส่งผลเดือนร้อนกับคนอื่น ๆ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ รถสกู๊ดเตอร์ไฟฟ้า ในระยะยาวหากไม่มีการควบคุมให้ดี คาดว่า จะเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ .-สำนักข่าวไทย