รัฐสภา 6 พ.ย.-กมธ.เกษตรฯ เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรใช้สารอื่น หรือ วิธีอื่น ทดแทน 3 สารพิษเกษตรกรรม
นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ โฆษกคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการการเกษตรฯ ว่า หลังมีการศึกษาหารือถึงผลกระทบและแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร จากการยกเลิกการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสียงสูงกรณีพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยที่ประชุมกรรมาธิการฯ ได้เชิญปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ภาพรวมได้ข้อมูลว่า การยกเลิกใช้ 3 สารเคมีเกษตรส่งผลต่อศักยภาพการผลิตลดลง โดยเฉพาะกลุ่มพืชอุตสาหกรรมหลัก อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ไม้ผล ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกระดับต้น ๆ ของโลกซึ่งจะมีผลกระทบในช่วงแรก ๆ เพราะไม่มีสารหรือวิธีทดแทนที่ได้ประสิทธิภาพเหมือนสารดังกล่าวทั้ง 3 ชนิด หรือหากเลือกใช้สารอื่นหรือวิธีทางเลือกอื่นก็จะมีต้นทุนสูงและได้ประสิทธิภาพที่ต่ำกว่า
โฆษก กมธ.เกษตรฯ กล่าวว่า ส่วนแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ทางกรมวิชาการเกษตร ได้เสนอไอเดียจากงานวิจัยต่าง ๆ โดยให้ใช้วัตถุอันตรายในกลุ่มสารควบคุมการงอกผสมผสานกับการใช้แรงงานคนและการใช้เครื่องจักรกลเกษตร โดยนำหลักการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานมาใช้การทดแทน ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือกรณีดังกล่าวแล้ว
ขณะที่เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เสนอวิธีการจัดการแบบยั่งยืน โดยให้ทำสวนยางแบบยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นสวนยางที่มีสมดุลนิเวศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพแทน ด้วยการจัดการรูปแบบการปลูกยางใหม่โดยให้มีต้นยางเพียง 40-45 ต้นต่อไร่ จากรูปแบบปลูกยางเดิม 76-80 ต้นต่อไร่
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการฯเห็นว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรมีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารดังกล่าวรวมทั้งเร่งหาสารชีวภัณฑ์ทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร และควรกำหนดระยะเปลี่ยนผ่านอย่างเหมาะสมในการยกเลิกใช้สารเคมีเพื่อให้เกษตรกรปรับตัวได้ทัน.-สำนักข่าวไทย