เมืองทองธานี 3 พ.ย.- การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 กระชับความร่วมมืออย่างรอบด้านตามวิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ค.ศ.2030 “พล.อ.ประยุทธ์” ระบุไทยและอาเซียนซาบซึ้งบทบาททจีนส่งเสริมความเข้มแข็งของภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง เดินหน้าความมั่นคง ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ด้านนายกฯ จีนมุ่งมั่นเดินหน้าสนับสนุนความร่วมมืออาเซียนให้มั่นคง เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 อย่างเป็นทางการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 ร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีประเทศสมาชิก 9 ประเทศอาเซียนเข้าร่วม เพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไทยและอาเซียนซาบซึ้งกับบทบาททของจีนที่ช่วยส่งเสริมความความเข้มแข็งของสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง และเดินหน้าเรื่องความมั่นคง ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน
“ปีที่แล้ว เราได้ฉลองความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน ครบรอบ 15 ปี และรับรองวิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ปี ค.ศ.2030 ปีนี้เราก็ได้ดำเนินการความร่วมมือจีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน และอาเซียนกับจีนก็ตั้งเป้าการค้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนระหว่างกันเป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปีหน้า” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนความเชื่อมโยงข้อริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน ส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งผ่านการร่วมมือแบบพหุภาคี และผลักดันให้มีความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค หรือ RCEP และการเจรจาการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้
ขณะที่นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า จีนมุ่งมั่นเดินหน้าสนับสนุนอาเซียนเป็นแกนกลางในการร่วมมือในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีความซับซ้อนและการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของโลกและของภูมิภาค ความร่วมมือของเรามั่นคงและก้าวหน้าอย่างสร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และในกรอบความร่วมมือของหุ้นส่วนจีนอาเซียนก็มีความคืบหน้า เราสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมือง สนับสนุนความมั่นคงในภูมิภาคเพื่อรับมือกับความไม่มั่นคงในส่วนอื่น ๆ ของโลก ทั้งนี้ก้าวสำคัญของความสำเร็จ คือ การบรรลุการพิจารณาวาระที่ 1 ของร่างเนื้อหาการเจรจาเพื่อจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ และเราจะเดินหน้าให้มีความคืบหน้าต่อไปภายในกรอบเวลา 3 ปีเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในระยะยาวในทะเลจีนใต้ต่อไป
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมว่าการประชุมในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่อาเซียนและจีนจะได้เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้สูงขึ้นอีกระดับ เพื่อประโยชน์ร่วมกันและของภูมิภาค ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนถือว่ามีพลวัตมากที่สุดประเทศหนึ่ง จากพัฒนาการความสัมพันธ์ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นเสาหลักสำคัญที่ค้ำจุนสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนของภูมิภาค
“นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียน หวังที่จะเห็นความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไป เพื่อความผาสุกและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ อาเซียนชื่นชมจีนสำหรับบทบาทในการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและในการช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจความเชื่อมโยง และความร่วมมือระหว่างประชาชนอย่างแข็งขันในปี 2561ที่ผ่านมา ครบรอบ 15 ปี ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียนและจีน โดยได้รับรอง “วิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ. 2030” ที่ถือเป็นแนวทางความสัมพันธ์อย่างรอบด้านระหว่างกัน โดยที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้กระชับความร่วมมือตามวิสัยทัศน์ เช่น การที่จีนยังคงตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน การที่อาเซียนและจีนจะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยมีแผนสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนแม่บทของอาเซียนกับจีน รวมถึงการสนับสนุนระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาพลวัตด้านความมั่นคงที่ยั่งยืนระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ และร่วมมือกันเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ผ่านกลไกต่าง ๆ ในด้านเศรษฐกิจ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเล การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับ Greater Bay Area (GBA) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจที่สูง รวมทั้งจะเชิญชวนให้อาเซียน จีน รวมถึงประเทศที่สาม มาลงทุนใน EEC ในภาคตะวันออกของไทย โดยไทยยินดีที่จะประกาศว่าอาเซียนและจีนกำหนดให้ปี พ.ศ.2563 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อความมั่งคั่งของภูมิภาค.-สำนักข่าวไทย