เชียงราย 1 พ.ย. – ก.เกษตรฯ ประสานสาธารณสุขจัดตั้งห้องแลปตรวจสารตกค้างสินค้าเกษตรนำเข้า ชี้ด่านเชียงของไม่มีห้องตรวจสารเคมี ทั้งที่นำเข้าผักผลไม้จำนวนมาก สุ่มเก็บตัวอย่างมาตรวจกว่าจะได้ผลรถขนส่งถึงตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง พร้อมกระจายไปทั่วประเทศ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ตรวจขั้นตอนการนำเข้าสินค้าเกษตร บริเวณด่านเชียงของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่รายงานว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างไปตรวจสอบ คือ ด่านตรวจพืช กรมวิชาการเกษตร แต่ไม่มีห้องปฏิบัติการตรวจสารเคมี ตรวจได้เฉพาะโรคและแมลงศัตรูพืชเท่านั้น เมื่อสินค้ามาถึงจะต้องเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการด่านตรวจพืชเชียงแสน ซึ่งอยู่ห่างไป 40 กิโลเมตร ทำให้เสียเวลาและไม่ทันกับปริมาณสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปริมาณนำเข้าผักผลไม้จากจีนมากขึ้น โดยปี 2561 นำเข้า 300,000-400,000 ตัน มูลค่า 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบันนำเข้าแล้ว 170,000 ตัน มูลค่า 3,200 ล้านบาท มีล้งชาวจีน 40-50 ราย แต่ละวันมีผักผลไม้นำเข้าจากจีนกว่า 100 ตู้คอนเทนเนอร์ เพราะเส้นทางนี้มีความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ ซึ่งใช้เวลา 3 ชั่วโมงก็ถึงด่านเชียงของ โดยล้งจีนเช่าพื้นที่ตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง ตลอดจนทำห้องเย็นรองรับสินค้าด้วย
ส่วนด่านของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่ตรวจสอบสารตกค้าง โดยใช้ชุดตรวจสอบเบื้องต้น (จีทีเทสคิดส์) ตรวจสารเคมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มออการ์โนฟอสเฟต กลุ่มคาบาเมต และกลุ่มจีพีโอ นอกจากนี้ มีชุดตรวจทีเอ็ม 2 ตรวจสารกลุ่มไพรีทรอยด์และกลุ่มออการ์โนคลอรีน แต่สารเคมีทางการเกษตรที่ใช้กันทั่วโลกมี 4 กลุ่ม ประกอบด้วยสารเคมีถึง 400 ชนิด แต่การตรวจทราบผลที่ชัดเจนต้องทำในห้องปฏิบัติการ ซึ่งใช้เวลา 2 วัน ด่านปล่อยผ่านรถขนส่งสินค้าเข้าประเทศไทยไปก่อน ทำให้ยังคงพบสารตกค้างในผักผลไม้จากการสุ่มตรวจทั่วไปทั้งตลาดทั่วไปและห้างสรรพสินค้า
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า มีนโยบายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งตั้งห้องปฎิบัติการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างที่นำเข้าที่ด่านเชียงของ ซึ่งจะใช้งบปี 2563 ให้เป็นห้องปฎิบัติการที่ทันสมัย ทราบผลรวดเร็ว สามารถวิเคราะห์สารตกค้างได้มากกว่า 450 ชนิด ทำให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยมากขึ้น เมื่อตรวจพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานต้องไม่อนุญาตให้นำเข้า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรไทยจากการตีตลาดของผักผลไม้จีน
ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดด่านปี 2556 มีการตรวจพบสารตกค้างผิดกฎหมาย อย.ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 386 และมาตรฐาน ไอเอสโอ 17025 และมาตรฐาน อย.มีการดำเนินคดีแล้ว 1,500 คดี โดยส่งเรื่องให้ อย.ดำเนินการ บริษัทที่กระทำผิดซ้ำจะถูกขึ้นบัญชีดำ สารตกค้างที่พบมากที่สุด คือ สารคลอร์ไพริฟอส โดยพบในกระหล่ำปลีและบล็อคเคอรี่ และสารคาเบนนาซินหรือสารกันเชื้อราในองุ่น ทั้งนี้ หลังจากมีการยกเลิกการใช้ 3 สาร ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส สินค้านำเข้าจะต้องไม่มีสารตกค้างในกลุ่มนี้ด้วย ให้มีผลบังคับวันที่ 1 ธันวาคมทันที.-สำนักข่าวไทย