สำนักงาน ป.ป.ช. 30 ต.ค.- “ธนชาติ” ร้อง ป.ป.ช.สอบระบบอัยการสั่งไม่ฟ้อง “เมียกำพล” ค้ามนุษย์คดีวิคตอเรีย ซีเคร็ท ตั้งข้อสังเกต ใช้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดมาเป็นเงื่อนไขสั่งไม่ฟ้องคดีจะทำได้หรือไม่ อีกทั้งขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ที่มีการถ่ายโอนไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ
นายธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ ทนายความและเครือข่ายนักกฎหมายเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบระบบการสั่งคดีของพนักงานอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ กรณีค้าประเวณีสถานบริการอาบ อบ นวด วิคตอเรีย ซีเคร็ท ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนางนิภา วิระเทพสุภรณ์ ภรรยา และบุตร ของนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ เจ้าของธุรกิจฯ และต้องการทราบว่า กรณีของนายกำพลอยู่ขั้นตอนใด เพราะหากสั่งไม่ฟ้องนายกำพลด้วย ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่
นายธนชาติ กล่าวว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษความผิดค้าประเวณี ในคดีดังกล่าว โดยยกฟ้องข้อหาค้ามนุษย์ แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากมีการอุทธรณ์คดีอยู่ ขณะที่ ผู้ต้องหาสำคัญ คือ นายกำพล ภรรยาและบุตรของนายกำพล ซึ่งตัวไปอยู่ต่างประเทศ ได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการ กระทั่งได้มีคำสั่งไม่ฟ้องภรรยาและบุตรของนายกำพล
นายธนชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่มีอาชีพทนายความเห็นว่า ก่อนหน้านี้มีการสั่งฟ้องคดีไปแล้ว จนมีการจับกุมตัวผู้ร่วมกระทำผิดได้ และส่งตัวฟ้อง กระทั่งศาลมีคำพิพากษา แต่ผู้ต้องหาอีกส่วนหนึ่งที่ยังติดตามตัวมาฟ้องไม่ได้ กลับนำเอาคำพิพากษาบางส่วนที่ศาลตัดสินคดี มาอ้างเพื่อสั่งไม่ฟ้อง จะมีความไม่ชอบมาพากลหรือไม่ จึงต้องให้ตรวจสอบว่า การสั่งไม่ฟ้องนั้นเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และการชั่งน้ำหนักนั้นถูกต้องหรือไม่ โดยการนำเอาข้อมูลบางส่วนในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดมาเป็นเงื่อนไขสั่งไม่ฟ้องคดีจะทำได้หรือไม่
“ต้องอย่าลืมว่า เมื่อคดีศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว อัยการโจทก์ที่ทำคดีก็ยื่นอุทธรณ์แล้ว แต่ระหว่างอุทธรณ์ อัยการอีกส่วนก็สั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหากลุ่มภรรยานายกำพล เรื่องนี้เป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ ถ้าในองค์กรมีความเห็นในทางกฎหมายต่างกัน แล้ว ประชาชนจะพึ่งใคร เรื่องนี้คดีก็ต้องไปให้ถึงศาล ให้ศาลตัดสินว่าเรื่องเป็นอย่างไร อัยการไม่ควรอาศัยคำพิพากษาบางส่วน แล้วตัดตอนไป” นายธนชาติ กล่าว
นอกจากนี้ นายธนชาติ กล่าว่า ต้องการให้ ป.ป.ช. ดูเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งได้รับข้อมูลว่ามีเงินหมุนเวียนในบัญชีของคนที่หลบหนีไปต่างประเทศ ในธนาคารกสิกร เป็นหลักร้อยล้าน โดยเงินก้อนนี้บางส่วนก็มีถ่ายโอนไปบัญชีเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรม และเครือญาติ 2-3 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่นั้นไม่ได้มีชื่อเกี่ยวข้องกับคดี แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความสำคัญในส่วนของเครือญาติอัยการ 1 ราย
“เรายังไม่ได้ใส่ความอะไร ต้องขอให้ตรวจสอบดูว่า เป็นเงินประกอบธุรกิจอะไรหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์ หากไม่สามารถทราบที่มา อาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ซึ่งหากเป็นกรณีร่ำรวยผิดปกติ ก็มีทางเดียวคือ ป.ป.ช. ต้องสั่งยึดให้ทรัพย์สินมาเป็นของรัฐ ก็ขอให้ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบดู ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อธนาคาร-ชื่อบัญชี และการรับโอนเงิน” นายธนชาติ กล่าว
นายธนชาติ ย้ำว่า การยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. วันนี้ เป็นการขอให้ตรวจสอบระบบ และถ้าตรวจสอบพบว่า เงินเข้าไปที่ใคร มีการเคลื่อนไหวของเงินส่วนใด ก็ต้องตรวจสอบบุคคลนั้นอีก . – สำนักข่าวไทย