กทม.25ต.ค.-วินมอเตอร์ไซค์ ไม่ค่อยถูกใจสิ่งนี้ หลัง กทม.ออกสำรวจความเห็น ยึดเสื้อวิน 3 ปี หากขี่บนทางเท้า โอดโทษแรงเกินไป ด้าน กทม.ย้ำยังเป็นเพียงแนวคิด
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สำรวจและสอบถามความคิดเห็นวินจักรยานยนต์รับจ้างและประชาชน เกี่ยวกับโครงการ “จุดกวดขัน จับ-ปรับ รถจอดหรือขับขี่บนทางเท้า” และมาตรการลงโทษวินรถจักรยานยนต์ที่ขับขี่รถบนทางเท้า โดยการยึดเสื้อวินเป็นเวลา 3 ปี ณ บริเวณวินรถจักรยานยนต์ ซอยสุขุมวิท 21 (หน้าตลาดอโศกและป้ายรถเมล์)เขตวัฒนา และบริเวณวินฯ ซอยสุขุมวิท 18 และ 22 เขตคลองเตย
โดยวินจักรยานยนต์ส่วนใหญ่เห็นดีด้วยกับมาตรการที่จะบังคับใช้ไม่ให้รถ จักรยานยนต์ขึ้นไปวิ่งบนทางเท้า แต่ทั้งหมดก็แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยเท่าใดกับเรื่องบทลงโทษ เนื่องจากมองว่าเป็นโทษที่หนักเกินไป และเป็นการจ้องจับผิดเฉพาะในส่วนของผู้ขี่จักรยานยนต์รับจ้าง อยากจะให้ กทม.พิจารณาบทลงโทษ ประชาชนหรือบุคคลที่ทำอาชีพอื่น เช่น คนส่งเอกสาร แกร็บไบค์ ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าเช่นกัน ก็ต้องได้รับโทษด้วย อยากให้ กทม.มีบทลงโทษเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทุกอาชีพ ทุกคน ทุกฝ่าย
โฆษก กทม.กล่าวภายหลังรับฟังความเห็น ปัญหาผู้ฝ่าฝืนนำรถขึ้นจอดหรือขับขี่บนทางเท้าได้รับการร้องเรียนมาเป็นอันดับต้นๆเพราะส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้ ใช้ทางเท้าเป็นอันมาก ที่ผ่านมา กทม.ได้กวดขัน จับ-ปรับ รถที่จอดหรือขับขี่บนทางเท้า โดยตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.61 จนถึง 17 ต.ค.62 สามารถจับกุมผู้ฝ่าฝืนได้ 24,511 ราย ว่ากล่าวตักเตือน จำนวน 4,225 ราย ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ 18,221 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินคดี
อย่างไรก็ตามแม้จะลงโทษเข้มงวดขึ้นก็ยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่องว่ายังมีผู้ฝ่าฝืนเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีผู้ขับขี่วินจักรยานยนต์รับจ้างถูกร้องเรียนมาเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อกำหนด และหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้ขับขี่วินจักรยานยนต์รับจ้างต้องปฏิบัติ และทำให้เป็นการรบกวน กีดขวางการสัญจรของผู้ใช้ทางเท้า ตลอดจนอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้ทางเท้า
สำหรับมาตรการยึดเสื้อวินเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งกทม.จะใช้เป็นมาตรการลงโทษ กรณีที่ผู้ขับขี่วินจักรยานยนต์รับจ้างฝ่าฝืนขับขี่หรือจอดบนทางเท้า ย้ำว่า ไม่ได้เป็นการรังแกคนหาเช้ากินค่ำ ตอนนี้เป็นเพียงแนวความคิด ยังไม่ได้นำมาใช้อย่างจริงจัง แต่โทษนี้เป็นสิ่งที่มีกำหนดไว้ไนข้อกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่อยู่ๆ คิดขึ้นมาเอง เพียงแต่ในอดีตยังไม่เคยนำออกมาใช้ลงโทษให้เป็นรูปธรรม
จากนี้จะให้ทั้ง 50 เขตนำแบบสำรวจไปให้วินมอเตอร์ไซต์ และประชาชน เขตละ 200 ชุด แบ่งเป็นวินมอเตอร์ไซค์และประชาชนอย่างละ 100 ชุดแสดงความเห็น เพื่อรวบรวมและนำข้อมูล เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารวินรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ซึ่งมีกรมการขนส่งทางบกเป็นประธาน กทม.เป็นอนุกรรมการ รวมถึงมี ทหาร และตำรวจร่วมด้วยในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ เพื่อพิจารณาดำเนินการกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมต่อไปต่อไป
ส่วนเรื่องที่จะให้ลงโทษกับประชาชน รวมถึงอาชีพอื่นที่ขี่บนทางเท้า โฆษก กทม. ย้ำว่าหากเป็นประชาชนก็จะมีบทลงโทษปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท เป็นอำนาจของกทม.ส่วนอาชีพอื่นที่ยกตัวอย่างมา เช่นแมสเซนเจอร์ หรือแกร๊บไบค์ ต้องไปดูกฎหมายก่อนว่าเป็นอาชีพที่ได้รับรองตามกฎหมายหรือไม่ เท่าที่ดูยังไม่มีการรองรับ กทม.จึงไม่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการ แต่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาเพิ่มกลุ่มนี้เข้าไปด้วยให้เกิดความเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีวินจักรยานยนต์รับจ้างที่ลงทะเบียนถูกต้องจำนวน 5,513 วิน ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง 88,578 ราย.-สำนักข่าวไทย