กรุงเทพฯ 24 ต.ค. – “มนัญญา” ลุยดูแลเกษตรกร หลังแบนสารเคมีการเกษตร 3 ชนิด สั่งทุกหน่วยงานเข้าถึงตัวเกษตรกร เพื่อให้แก้ความเดือดร้อนตรงจุด ลั่นเจ้าของบริษัทนำเข้าสารเคมีรายใดมีสารคงเหลือต้องรับผิดชอบกำจัดสารเองตามกฎหมาย อย่าโยนภาระรัฐบาล จ่อเก็บภาษีส่งออกสารเคมีทุกชนิด ป้องไทยเป็นแหล่งผลิตสารอันตราย
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 25 ตุลาคมจะจัดประชุมทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่ศาลากลาง จ.อุทัยธานี เพื่อรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน ภายหลังการแบนสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ คลอร์ไพรีฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต โดยจะมีผลวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ห้ามจำหน่าย ผลิต ครอบครอง นำเข้า และส่งออก ขณะนี้สั่งทุกหน่วยงานต้องดูแลช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะใช้ จ.อุทัยธานีเป็นพื้นที่นำร่อง จากนี้จะลงไปรับฟังปัญหาทุกจังหวัด ทุกหน่วยงานต้องเดินหน้าไปด้วยกันและร่วมกันนำทางออก ทางเลือกทำไว้ทุกอย่างไปให้ถึงตัวเกษตรกรและมีมาตรการช่วยเหลือไว้พร้อมหมด โดยเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปให้ถึงเกษตรกรในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน สิ่งสำคัญต้องไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น
รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า สำหรับสารทางเลือกมี 16 ชนิด กรมวิชาการเกษตรเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายมาอย่างต่อเนื่องและกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับรองตั้งแต่ปี 2554 ไม่ใช่สารเคมีตัวใหม่แต่อย่างใด ขออย่าใช้คำว่าสารทดแทน เพราะไม่ได้เป็นสารทดแทน แต่เป็นสารอื่นที่ให้เกษตรกรเลือกใช้
“ขอให้เข้าใจตรงกันว่าไม่มีการนำเข้าสารตัวใหม่เข้ามาทดแทนสารเคมี 3 ชนิด ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิก ที่ผ่านมาสารทางเลือกเกษตรกรใช้ทั่วไปและมีขายในท้องตลาดเป็นร้อยชนิด สำหรับสารทางเลือก 16 ชนิด กรมวิชาการเกษตรอนุญาตให้นำเข้าตั้งแต่ปี 2554 โดยเสนอเข้าคณะกรรมการวัตถุอันตรายทุกครั้งที่มีการประชุม ขณะนี้อยู่ระหว่างทำร่างแนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรฯ ยกเลิกสารเคมีการเกษตร 3 ชนิดที่จะมีผลบังคับใช้ 1 ธันวาคม ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย” น.ส.มนัญญากล่าว’
รมช.เกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำจัดสารเคมี 3 ชนิดที่ยังคงเหลือ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และกรมวิชาการเกษตร แต่เป็นหน้าที่ของบริษัทที่นำเข้ามาต้องรับผิดชอบเรียกคืนจากร้านค้า แล้วนำไปกำจัดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 53 วรรคท้าย ซึ่งเป็นวิธีตามหลักสากลเลิกใช้สารเคมีปฏิบัติ จากนี้จะมีคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการกำจัด 3 สาร โดยขณะนี้ไม่ควรมีสารเคมีคงเหลือในประเทศเพราะชะลอการนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2559 และห้ามนำเข้าเมื่อเดือนมิถุนยายนที่ผ่านมา ดังนั้น เอกชนจะใช้มาเป็นข้ออ้างไม่ได้
รมช.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโรงงาน สารเคมี ปุ๋ยยา ทุกชนิดให้มีคุณภาพมาตรฐานรับรองที่เป็นระดับสากล โรงงานทุกแห่งต้องมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารที่นำเข้ามา เพื่อป้องกันการลักลอบนำมาขายในประเทศ จากนี้จะมีมาตรฐานการควบคุมวัตถุอันตรายสารเคมีทุกประเภท รวมถึงมีมาตรการควบคุมการเก็บสต็อกในโกดัง จัดทำระบบควบคุมให้รู้ว่า ทุกขวดทุกลิตรมาจากบริษัทต้นทางใด ใครนำไปผลิต บรรจุยี่ห้ออะไร ไปยังร้านจำหน่ายใดบ้างต้องควบคุมได้ตลอดสายการผลิต พร้อมจะหารือกรมสรรพากรเก็บภาษีส่งออกสารเคมีทุกชนิด จากเดิมไม่เก็บภาษีทั้งนำเข้าและส่งออก เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานผลิตสารเคมีอันตราย.-สำนักข่าวไทย