กรุงเทพฯ 21 ต.ค. – กบง.เห็นชอบ 3 กรอบโรงไฟฟ้าชุมชนคาดแจ้งเกิดโรงแรก Quick win ปลายปีนี้ พร้อมเห็นชอบโรงไฟฟ้าเอสพีพีชีวมวลปรับเป็น FiT 14 ราย ส่วน LNG แบบ SPOT นำเข้าลำแรก ธ.ค.นี้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.วันนี้ ได้หารือรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งพบว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก จึงตั้งอนุกรรมการฯ กบง.ขึ้นมากลั่นกรอง เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันได้มอบหมายกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) ร่วมกันจัดทำรายรูปแบบรายละเอียดของโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามมติที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มอบหมายตั้งแต่ 11 กันยายน 2562 เบื้องต้นกำหนดไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน หรือบริษัทลูกของการไฟฟ้าทีมีความพร้อมอยู่แล้ว 2.เป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงปลายสาย หรือไฟฟ้าเข้าไม่ถึง โดยอาจจะพิจารณานำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือรูปแบบ CSR จากภาคเอกชนต่าง ๆ 3.เป็นการลงทุนเพื่อนำของเสียมาจัดการให้เป็นประโยชน์เชิงพลังงาน เช่น ขยะ โดยให้เสนอ กบง.อีกครั้งภายในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมขึ้นมาดูแล
“กบง. มอบ พพ.ร่วมกับ กกพ.จัดทำหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน โดยเร่งโครงการที่เข้าระบบได้รวดเร็ว หรือ Quick win คาดว่าโรงแรกจะเข้าระบบภายในปลายปี 2562 ” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ กบง.ได้พิจารณาแนวทางปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล โดยให้ SPP ชีวมวล ที่ กบง.เคยมีมติก่อนหน้านี้ให้สามารถสมัครใจเลือกอยู่ในรูปแบบสัญญาเดิมในรูปแบบ ADDER ตามเงื่อนไขเดิม หรือให้สามารถเลือกที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็น FiT 3.66 บาท/หน่วย ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยพบว่า มีผู้ประกอบการสัญญา FIRM 17 ราย ขอเปลี่ยนมาเป็น FiT 12 ราย ส่วนสัญญา NON-FIRM 17 ราย ขอเปลี่ยนมาเป็น FiT จำนวน 4 ราย ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม กพช.ต่อไป โดยการพิจารณาได้คำนึงถึงผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าของประเทศในภาพรวม รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นกับ SPP ชีวมวลแบบ FiT (โครงการ SPP Hybrid Firm) ที่ได้มีการประกาศรับซื้อและดำเนินคัดเลือกเมื่อปี 2560 โดยวิธี Competitive Bidding ควบคู่กันไปด้วยแล้ว
พร้อมกันนี้ กบง.ได้รับทราบแนวทางการทดลองนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG แบบ Spot หรือราคาตลาดจรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามที่ กบง.เสนอ ซึ่งเป็นเรื่องการดูช่วงเวลาและปริมาณการนำเข้าที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางให้ กฟผ.ดำเนินการต่อไป โดยจากข้อมูลที่ได้รับ จึงสรุปมีแนวทางเลือกปริมาณการนำเข้า 2 ลำเรือ ลำเรือละ 65,000 ตัน และช่วงเวลาการนำเข้าที่เหมาะสมลำแรกประมาณเดือนธันวาคม 2562 และลำที่ 2 ประมาณเดือนเมษายน 2563 ทั้งนี้ จากข้อมูลราคา LNG แบบ Spot ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 จะยังไม่สูงมากนัก และให้ กฟผ. และ กกพ. นำผลการนำเข้า LNG ลำแรกมารายงาน กบง. เพื่อจะได้ทราบผลกระทบจากการดำเนินการ รวมถึงการเปรียบเทียบต้นทุนค่าไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด ส่วนรูปแบบการนำเข้าสัญญาระยะยาวที่ กฟผ.เคยประมูล และ กบง.สั่งให้ไปเจรจากับผู้ชนะประมูล คือ ปิโตรนาสแอลเอ็นจี วันนี้ที่ประชุมไม่ได้หารือกันแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย