กทม.17 ต.ค.-บอร์ด สปสช.รับทราบความก้าวหน้าโครงการรับยาที่ร้าน มีร้านยาเข้าร่วม 300 แห่งกับ 35 โรงพยาบาล พบส่วนใหญ่ใช้รูปแบบที่ 1 ที่ประชุมห่วงพื้นที่ กทม. ดันพัฒนาสู่รูปแบบที่ 3
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 10 ต.ค.62 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.)ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ได้รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงาน โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยใช้กลไกร้านยา หรือโครงการรับยาใกล้บ้านลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งล่าสุดมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 35 แห่ง จากเป้าหมาย 50 แห่ง และมีร้านยาเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 300 ร้าน จากเป้าหมาย 500 ร้าน
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลทั้ง 35 แห่ง มีการใช้รูปแบบการจัดบริการแบบที่ 1 คือโรงพยาบาลเป็นผู้จัดยาให้ร้านยา จำนวน 27 แห่ง และเลือกใช้รูปแบบที่ 2 คือโรงพยาบาลส่งยาสำรองไว้ที่ร้านยาเพื่อให้ร้านยาจัดยาให้ผู้ป่วย 8 แห่ง โดยดำเนินการในกลุ่มโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด ไขมันในเลือดสูง 26 แห่ง และมีเพิ่มเติมโรคอื่นๆ เช่น ต่อมลูกหมากโต มะเร็งเต้านม หลอดเลือดทางสมอง ลมชัก อีก 6 แห่ง ส่วนอีก 3 แห่งดำเนินการในกลุ่มโรคจิตเวช
ทั้งนี้ ข้อมูลผลการดำเนินงานจากที่บันทึกผลการเบิกจ่ายเข้ามาแล้ว มีจำนวนผู้ป่วยรับบริการรวมทั้งสิ้น 22 ราย ซึ่งเชื่อว่าจะเริ่มเห็นตัวเลขข้อมูลการรับบริการจริงตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. หรือเดือน พ.ย. เป็นต้นไป ส่วนผลบริการผ่านสายด่วน สปสช. 1330 พบว่ามีการสอบถามข้อมูลและเสนอแนะรวมทั้งสิ้น 93 ราย โดยประชาชนส่วนใหญ่สอบถามขอบเขตของการให้บริการ ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการจะสอบถามเกี่ยวกับวิธีการเข้าร่วมและแนวทางการใช้เงินค่าจัดบริการ
นพ.จักรกริช กล่าวต่อว่า ในส่วนโรงพยาบาลที่เตรียมจะเข้าร่วมโครงการเฟสถัดไป ระหว่างเดือน พ.ย.62-ม.ค.63 มีทั้งสิ้น 16 โรงพยาบาล ซึ่งอยู่ในระหว่างขั้นตอนการเตรียมการ ขณะที่การทบทวนปรับปรุงข้อกฎหมาย ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการหารือเรื่องระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างฯ ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ซึ่งคาดว่าจะเข้าคณะกรรมการนโยบายพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างได้ ภายในสัปดาห์หน้า
มีรายงานความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมว่า ส่วนใหญ่ให้ข้อสังเกตถึงจำนวนการเข้าร่วมของโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ยังมีน้อย ในขณะที่มีอัตราการเข้าไม่ถึงบริการจากความแออัดสูงสุดเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ จึงต้องมีการขยับเพิ่มปริมาณมากขึ้น เช่นเดียวกับกับรูปแบบการจัดบริการ ที่ควรจะถูกพัฒนาไปสู่รูปแบบที่ 3 คือการให้ร้านยาเป็นผู้จัดซื้อและสำรองยา รวมทั้งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยตามใบสั่งแพทย์ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของระบบได้อย่างแท้จริง
ด้าน ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ให้ข้อเสนอแนะถึงความสำคัญของการติดตามการใช้ยาของผู้ป่วย ซึ่งไม่ว่ารูปแบบการจัด บริการจะเป็นโมเดลใด ควรจะให้มีการติดตามการใช้ยาทุกเดือน เพื่อที่ว่าหากมียาเหลือจะสามารถส่งกลับโรงพยาบาลได้ แต่ในส่วนนี้พบว่าโรงพยาบาลส่วนมากโดยเฉพาะใน กทม. ยังไม่อยากให้มีการทอนยาเกิดขี้น ด้วยเหตุกังวลเรื่องระบบการจ่ายคืนต่างๆ ในทางปฏิบัติ
“เราพบปัญหาเยอะในการใช้ยาของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังบางทีใช้ไม่ถูกต้อง ทำให้มียาเหลือใช้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นหากทุกเดือนได้มีการทบทวนกันถึงการใช้ยา เมื่อมีเหลือใช้สามารถส่งกลับโรงพยาบาลได้ น่าจะเป็นหลักการที่ทำให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์มากที่สุด” ภญ.จิราพร ระบุ .-สำนักข่าวไทย