กรุงเทพฯ 11 ต.ค. – กรมวิชาการเกษตรเร่งตัดตอนวงจรโรคระบาดใบด่างมันสำปะหลัง ควบคุมการขนย้ายต้นพันธุ์และท่อนพันธุ์อย่างเข้มงวด ยกพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นต้นแบบหยุดยั้งการระบาดของโรค พร้อมแนะนำให้เกษตรกรซื้อต้นพันธุ์และท่อนพันธุ์มันสะอาดจาก 38 จังหวัด
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ขณะนี้พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังใน 15 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี กาญจนบุรี สระแก้ว ระยอง นครสวรรค์ ลพบุรี ขอนแก่น และมหาสารคาม รวมพื้นที่ 55,924 ไร่ โดยทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตามหลักวิชาการไปแล้ว 13,111 ไร่
ทั้งนี้ การระบาดเพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากการใช้ท่อนพันธุ์ติดโรคที่มาจากแหล่งระบาดของโรค กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร จึงร่วมกันกำหนดแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างเข้มงวด ได้แก่ ควบคุมการขนย้ายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากแหล่งที่พบการระบาดของโรค โดยใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 อีกทั้งสำรวจและเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการสำรวจการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในจังหวัดนครราชสีมาพบว่ามีการระบาดของโรคใบด่างลดลงเนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาได้ออกประกาศการควบคุมการขนย้ายต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง และหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาต และวิธีการขนย้ายต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการป้องกันและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังจากพื้นที่มีการระบาดของโรคไม่ให้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น รวมทั้งได้ดำเนินการสำรวจและกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างออกจากแปลงหรือทำลายแปลงที่มีการระบาดของโรคทันที จึงจะใช้เป็นต้นแบบในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งแนะนำเกษตรกรให้ซื้อท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดในพื้นที่ไม่พบการระบาดของโรคใบด่าง 38 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครนายก นครพนม นราธิวาส น่าน บึงกาฬ ปทุมธานี ประจวบคิรีขันธ์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลำปาง ลำพูน เลย สกลนคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
“ขอย้ำเตือนเกษตรกรทั้ง 53 จังหวัด ที่ปลูกมันสำปะหลังให้เลือกซื้อท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรคใบและไม่ควรใช้พันธุ์มันสำปะหลังที่อ่อนแอต่อโรคใบด่าง หมั่นตรวจแปลงมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดของโรคให้รีบดำเนินการทำลายตามหลักวิชาการที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำทันทีเพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคไปยงพื้นที่อื่นซึ่งหากทำได้ทุกจังหวัดจะเป็นการตัดวงจรโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ได้ผลดีที่สุด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว . – สำนักข่าวไทย