ธปท. 9 ต.ค. – ธปท.ออกหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงิน ช่วยปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ทั้งสงครามการค้าโลกและภัยธรรมชาติในประเทศที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) และกังวลมีโอกาสที่หนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) จะสูงขึ้น ธปท.จึงได้สื่อสารไปยังสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อให้ช่วยลูกหนี้แก้ไขปัญหาหรือปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบและยังมีศักยภาพสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
นอกจากนี้ ธปท.ได้ออกหนังสือเวียน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ไปยังสถาบันการเงิน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะในส่วนของสถาบันการเงิน จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ (IFRS 9) ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินปรับการจัดชั้นลูกหนี้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่มีแนวโน้มเครดิตดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถขอสินเชื่อใหม่ เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้
สำหรับสาระสำคัญของมาตรฐาน IFRS 9 ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 จะมีการแบ่งชั้นลูกหนี้แบบใหม่เป็น 3 ระดับ ได้แก่ Stage1 กลุ่มที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านเครดิต Stage2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ Stage3 กลุ่มลูกหนี้เอ็นพีแอล
ทั้งนี้ ธปท.ได้สื่อสารให้สถาบันการเงินพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล โดยไม่ถือว่าเป็นหนี้ที่มีปัญหาและไม่ต้องรายงานเครดิตบูโร โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ stage2 หากลูกหนี้ชำระหนี้ติดต่อกัน 3 เดือน หรือ 3 งวด ให้ปรับขึ้นเป็น stage1 ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล หากสถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้สามารถเลื่อนชั้นลูกหนี้จาก stage3 เป็น stage2 ถ้าลูกหนี้สามารถชำระหนี้ติดต่อกัน 3 เดือน หรือ 3 งวด ตามเงื่อนไขใหม่ได้ และหลังจากนั้นหากสถาบันการเงินพิจารณาว่าลูกหนี้จะสามารถปฏิบัติได้ตามสัญญาและไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินสามารถพิจารณาลูกหนี้ขึ้นเป็น stage1 โดยไม่ต้องรอครบ 9 เดือน ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด และหากสถาบันการเงิน เห็นว่าการให้สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนแก่ลูกหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มเติมจะช่วยให้ลูกหนี้ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องให้สถาบันการเงินสามารถพิจารณาให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้นั้นได้
อย่างไรก็ตาม ธปท.มุ่งหวังให้ภาคธุรกิจไทยโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อใช้ในการดำเนินงานและต่อยอดธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน . – สำนักข่าวไทย