กรุงเทพฯ 30 ก.ย. – ธปท.รับเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ มองเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า แนะควรใช้โอกาสนี้กระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบที่ผ่านมาได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2.8 สาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรง ทำให้อุปสงค์ในประเทศทั้งรายได้และการจ้างงานปรับลดลง นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงตามไปด้วย พร้อมยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติแต่อย่างใด เพราะเศรษฐกิจมีวัฎจักรขึ้นลงและขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยจากต่างประเทศถือว่าเป็นส่วนสำคัญ
ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐก็เข้ามาช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชนได้บางส่วน พร้อมย้ำแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง แต่ไม่ได้แปลว่าภาวะเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เพราะเศรษฐกิจเป็นวัฏจักรมีขึ้นมีลง ขณะที่มาตรการชิมช้อปใช้นั้น ยังคงต้องรอประเมินอีกครั้ง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก
ส่วนสถานการณ์เงินบาท ที่ผ่านมาเงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูง ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ยังเกิดดุลถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อค่าเงินบาท ซึ่ง ธปท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยอมรับมีความเป็นห่วงเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง แต่การแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลจากการที่ประเทศไทยยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูง รวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังเป็นบวก และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เป็นรายการใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ ปัจจัยตลาดเงินตลาดทุนโลกส่งผลให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงและมีความผันผวนด้วยเช่นกัน ล่าสุดเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกรอบ เพราะอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของไทยปรับลดลงมาก ส่วนการเก็งกำไรค่าเงินบาทมีแนวโน้มลดลง โดยจะเห็นได้จากนักลงทุนที่มาลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ หรือที่นำเงินเข้ามาพักในไทยช่วงสั้น ๆ มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของไทยลดต่ำลงจนใกล้เคียงกับพันธบัตรของสหรัฐ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าถือเป็นโอกาสดีที่ควรเร่งให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น
สำหรับกรณีที่ ธปท.และสมาคมธนาคารไทยทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นนั้น ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แจงว่าอาจจะมีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ธปท.ไม่ได้เข้าไปคุมหรือบังคับการออกแคมเปญที่สถาบันการเงินออก แต่ ธปท.ขอความร่วมมือพร้อมส่งเสริมให้สถาบันการเงินออกสินเชื่อโดยคำนึงถึงการรับผิดชอบต่อสังคม และอยากให้สถาบันการเงินถามตัวเองว่าวิธีการทำธุรกิจสร้างผลข้างเคียงที่ไม่เหมาะสมให้กับสังคมหรือไม่ เช่น เครดิตการ์ด 0 % 6 เดือน บางสถาบันการเงินก็มุ่งรุกตลาดไปยังกลุ่มคนที่พึ่งทำงานใหม่ มีเงินเดือนเดือนแรก ส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การท่องเที่ยวต่างประเทศ ขณะที่รูปแบบการทำธุรกิจที่ใช้ 0 % ทำโปรโมชั่นแรง ๆ หวังจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียม หรือดอกเบี้ยปรับ เป็นต้น จึงอยากให้ทบทวนและปรับรูปแบบธุรกิจให้มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น . – สำนักข่าวไทย