กรุงเทพฯ 25 ก.ย. – กัลฟ์-ปตท.พร้อมเดินหน้าโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 หลัง ครม. 24 ก.ย.เห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุน จ่อลงนามกับ กนอ. โดยคลังแอลเอ็นจี ขยายสูงสุดถึง 10.8 ล้านตันต่อปี
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือGULF แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (24 ก.ย.) มีมติเห็นชอบต่อผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตศรษฐกิจพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอมา โดยกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีทีแทงค์เทอร์มินอล ร่วมทุนกันในสัดส่วนร้อยละ 70 และ 30 ตามลำดับ ขั้นตอนต่อไปจะมีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (PPP) กับทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
สำหรับโครงการดังกล่าว ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงที่หนึ่ง เป็นงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งประกอบด้วยงานขุดลอกและถมทะเลในเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ งานขุดลอกร่องน้ำและแอ่งกลับเรือ งานก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี โดยเอกชนจะได้รับผลตอบแทนเป็นรายปีจาก กนอ. เป็นระยะเวลา 30 ปี
2.ช่วงที่สอง งานก่อสร้างท่าเทียบเรือก๊าชและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Superstructure) บนพื้นที่ถม ทะเลประมาณ 200 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไม่น้อยกว่า 5 ล้านตันต่อปี และส่วนขยายไปจนถึง 10.8 ล้านตันต่อปี โดยเอกชนจะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าบริการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวให้เป็นก๊าซ (LNG Terminal Fee) จากผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย.เห็นชอบต่อผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอมา โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือก คือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บมจ.ปตท. โดย กนอ. จะชำระเงินร่วมลงทุนของรัฐ 1,010 ล้านบาทต่อปี และได้รับค่าให้สิทธิการร่วมลงทุนจากเอกชนกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีทีแทงค์ จำนวน 300 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นค่าร่วมลงทุนที่จ่ายให้กับเอกชน 710 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี มูลค่าเงินลงทุนรวม 55,400 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย