กรุงเทพฯ 24 ก.ย.- ศาลอาญาคดีทุจริตฯไต่สวนพยานโจทก์นัดแรกคดีเงินกู้กรุงไทย พยานโจทก์เปิดเส้นทางการเงิน “เสี่ยวิชัย ถึง พานทองแท้” ไม่พบทำธุรกิจร่วมกัน “โอ๊ค พานทองแท้”ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก คดีฟอกเงินกู้แบงก์กรุงไทย ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ หรือโอ๊ค ชินวัตร อายุ 39 ปี บุตรชายคนโตของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 , 9 , 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91
โดยอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 จากกรณี “นายพานทองแท้” รับโอนเงินเป็นเช็คจำนวน 10 ล้านบาทเข้าบัญชี ซึ่งมีการกล่าวหาว่าเงินนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำจากการทุจริตปล่อยกู้สินเชื่อระหว่างธนาคารกรุงไทยฯ กับเอกชนกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มีนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อายุ 80 ปี ผู้บริหารกฤษดามหานคร กับนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ อายุ 53 ปี ซึ่งเป็นบุตรชายของนายวิชัย และอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ตกเป็นจำเลยในคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้จำคุกนายวิชัยและนายรัชฎา บุตรชายคนละ 12 ปีร่วมกับพวก โดยในส่วนของนายวิชัย , นายรัชฎา และกลุ่มอดีตกรรมการบริษัทเอกชนในเครือกฤษดา รวม 6 คนนั้น ก็ถูกอัยการ ยื่นฟ้องความผิดฟอกเงินการทุจริตปล่อยกู้ดังกล่าวต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเช่นกันด้วย
โดยชั้นศาล “นายพานทองแท้” จำเลย ก็ให้การปฏิเสธสู้คดีว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นที่ได้ร่วมลงทุนกับนายรัชฎา บุตรชายของนายวิชัย อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร
และช่วงเช้าศาลได้ไต่สวนพยานอัยการโจทก์ เสร็จสิ้น 1 ปาก คือ นายสุนทรา พลไตร ผู้อำนวยการส่วนบริหารทรัพย์สิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ในฐานะผู้กล่าวหาคดีนี้ ได้เบิกความตอบคำถามศาลสรุปว่าในการตรวจสอบคดีนี้ช่วงปี 2559-2560 พยานเป็นผู้อำนวยการส่วนข้อมูลคดีและมาตรการพิเศษทางกฎหมาย ป.ป.ง.ได้ตรวจสอบเอกสารจากการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ที่ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยพยานเห็นว่ามีการร่วมกันฟอกเงินระหว่างจำเลยกับ นายวิชัย กฤษดาธานนท์ เนื่องจากมีการรับโอนและโยกย้ายเงินในหลายบัญชี ซึ่งในส่วนของจำเลยมีการนำเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพต่างสาขาระหว่างบางพลัดและซอยอารีย์ ขณะที่ทั้งสองก็ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ใดๆกันทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังพบว่าจำเลยได้โอนเงิน 10 ล้านบาทคืนนายวิชัย เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้บริหารธนาคารกรุงไทยเมื่อปี 2548
ส่วนที่มีการระบุว่าจำเลยทำธุรกิจรถยนต์กับนายรัชดา บุตรชายของนายวิชัย นั้น ก็ไม่น่าเชื่อถือ โดยการตรวจสอบเชื่อว่าการรับโอนเงินระหว่างจำเลยและนายวิชัย เป็นการให้ค่าตอบแทนบางประการ หลังจากที่นายวิชัย ได้รับเงินปล่อยกู้จากธนาคารกรุงไทย ซึ่งบิดาของจำเลย คือ นายทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการตรวจสอบเส้นทางการเงินนั้นก็ดูจากต้นเงิน ที่เมื่อธนาคารกรุงไทย ได้ปล่อยกู้ ให้กับ บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค แล้ว จนผ่านไปถึงนายวิชัย จากนั้นจำเลยก็ได้รับเช็คโอนเงินเข้าบัญชี 10 ล้านบาท จากนายวิชัย ส่วนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง นายทักษิณ จากคดีอนุมัติให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้นั้น จะด้วยเหตุผลใด อย่างไร พยานไม่ทราบ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องในคดี
ส่วนนายพานทองแท้ ได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติม ก่อนออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการเพิ่มเติมคำให้การหลังจากมีเหตุการณ์ที่ทำให้เปลี่ยนแปลงแนวทางการต่อสู้คดี จึงเลือกให้การใหม่ทั้งหมด แต่ยังคงปฎิเสธข้อกล่าวหา โดยในวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน นี้ ตนจะขึ้นเบิกความนัดไต่สวนพยานจำเลยซึ่งมีตนเพียงปากเดียว โดยจะเบิกความในประเด็นเรื่องการลงทุนและเงินจำนวน10 ล้านบาท ว่านำไปใช้จ่ายอะไร เพื่อให้ศาลเข้าใจว่าจริงๆแล้วไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่ และที่ผ่านมาตนเองยังไม่เคยขึ้นเบิกความจึงยังไม่ได้ข้อมูลกับศาล แต่ยืนยันเจตนาไม่เคยฟอกเงินตามข้อกล่าวหาตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีและหากศาลกรุณาอ่านก็จะเข้าใจเจตนาว่าตนกระทำโดยสุจริต .-สำนักข่าวไทย