สธ.24ก.ย.-ผู้ช่วย รมว.สธ.ร่วมอภิปรายประชุมคู่ขนานของการประชุมระดับสูงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่สหประชาชาติ เผยไทยบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ จากสุขภาพคือค่าใช้จ่าย เป็นสุขภาพคือการลงทุน และมุ่งเน้นประชากรกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงสิทธิสุขภาพ
เมื่อวันที่ 23 กันยายน2562 ณ ห้องประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC Chamber) สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมอภิปรายการประชุมคู่ขนานของการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage – UHC)
นพ.สำเริง กล่าวว่า หากเราต้องการบรรลุเรื่องความเท่าเทียม การพัฒนาอย่างทั่วถึงและความมั่งคั่งสำหรับทุกคน จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะประชากรชายขอบและกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากโดย ทั่วไปแล้วเรามักมองประชากรกลุ่มชายขอบและเปราะบางในฐานะ “เส้นทางสุดท้าย”ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่สำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยนั้น ทำตรงข้ามกัน ไทยตระหนักว่า ประชากรกลุ่มชายขอบและเปราะบางเป็น“จุดเริ่มต้น”ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของเรา ด้วยเหตุนี้หลักประกันสุขภาพของไทยจึงเริ่มจากประชากรที่มีรายได้น้อยก่อนในปี 2518 และขยายมายังกลุ่มแรงงานในระบบด้วยระบบประกันสังคมในปี 2533 ก่อนจะบรรลุหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าในปี 2545
ทั้งนี้ หลักประกันสุขภาพของไทยมีวิสัยทัศน์ว่า ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นโดยไม่มีอุปสรรคด้านการเงินมาขวางกั้น นี่คือการพัฒนาอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (leaving no one behind)
นอกจากนั้นผลจากการที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 ได้พิสูจน์แล้วว่าการที่รัฐลงทุนด้านสุขภาพเพื่อประชาชนนั้น ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ20 ที่สำคัญหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ยังเกี่ยวข้องกับการเพิ่มรายได้ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ทางอ้อมและสร้างความมั่งคั่งสำหรับทุกคน เท่ากับว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยลดความยากจนได้ ซึ่งนี่คือการสร้างความมั่งคั่งสำหรับทุกคน
“จากประสบการณ์สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย จะเห็นได้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่จากความเชื่อเดิมที่ว่า สุขภาพคือค่าใช้จ่าย มาเป็นสุขภาพคือการลงทุน โดยเริ่มจากประชากรกลุ่มชายขอบและเปราะบางที่เคยถูกมองเป็นหลักไมล์สุดท้าย ต้องเป็นหลักไมล์แรกที่ต้องพิชิตเพื่อให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จเช่นที่ไทยเคยทำได้”ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพของไทยว่า การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียนั้น จะทำให้เกิดธรรมาภิบาล ซึ่งจำเป็นสำหรับหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน ทั้งยังรวมไปถึง ความโปร่งใส ความรับผิดรับชอบ หลักนิติธรรม ความเป็นธรรมและความเพียงพอด้วย
นพ.สำเริง กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยได้ออกแบบระบบการกำกับดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากหลายภาคส่วนอย่างแท้จริง โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นโครงสร้างการกำกับดูแลที่เข้มแข็งและมีส่วนร่วม คณะกรรมการทั้ง30 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากทั้งภาคประชาสังคม (เป็นสตรี 4 ใน 5 คน) ผู้ให้ บริการสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อดีตข้าราชการ และผู้เชี่ยวชาญอิสระ โดยมีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใสและมีส่วนร่วม นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีการถ่ายทอดสดทุกครั้ง ทำให้ทราบถึงบทบาทที่เข้มแข็งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานด้วย.-สำนักข่าวไทย