ทำเนียบฯ 23 ก.ย.- “อนุทิน” เรียก เลขาฯ EEC – คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หารือหาทางออกเซ็นสัญญาเริ่มโครงการตามกำหนด ย้ำรัฐบาลพร้อมช่วยแก้ปัญหา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า บ่ายวันนี้ (23 ก.ย.) ได้เรียกนายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มาประชุม เพื่อหารือข้อสรุปให้มีความชัดเจนในเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ ร่วมถึง พิจารณาว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตาม TOR ที่กำหนดไว้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ กลุ่มซีพี หรือไม่
นายอนุทิน ยืนว่า ขณะนี้ยังเป็นไปตามกรอบเวลาที่สามารถเซ็นสัญญาลงนามได้ ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อโครงการ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องยึด TOR ที่ผู้ประมูลต้องรับทราบและยอมรับในเงื่อนไขนั้น เพราะไม่เช่นนั้นจะเข้าประมูลไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องมีการเจรจาเพิ่มอีก และขอให้ทำตาม TOR รัฐบาลก็ยึดใน TOR ไม่สามารถไปปรับแก้เงื่อนไขใดๆ เพราะถ้ารัฐบาลมีการปรับแก้ รายที่แพ้ประมูลก็จะมีการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายกลับได้
“สิ่งที่ดีที่สุดระหว่างรัฐบาลและผู้รับสัมปทาน คือ ต้องปฎิบัติตาม TOR ที่เขียนไว้ว่า ขั้นตอนการดำเนินโครงการ การส่งมอบพื้นที่เป็นอย่างไร หากมีการส่งมอบล่าช้า ผู้รับสัมปทานก็สามารถใช้สิทธิ์ในการต่ออายุสัญญาได้ ถือเป็นการปฎิบัติทั่วไปที่เกิดขึ้นกับทุกหน่วยงาน” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน ยืนยันว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นตน ก็ไม่มีผล เพราะคู่สัญญาคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แม้จะเปลี่ยนรัฐมนตรีไปกี่คนก็ตาม การดำเนินการของ รฟท. ก็เป็นไปตามกรอบเวลา
ส่วนจะให้ระยะเวลากลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด เซ็นสัญญาไปจนถึงเมื่อไรนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาที่ติดขัดให้กับคู่สัญญาของรัฐ เพื่อให้งานเกิดความสำเร็จ เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุผลที่จะต้องกลัวในการเซ็นการสัญญา
“เพราะเวลาเข้ามาประมูล ไม่ใช่มายื่นกระดาษเพียงใบเดียว มีหนังสือค้ำสัญญาธนาคาร ถ้าไม่เซ็นสัญญาตาม TOR ก็จะถูกยึดหนังสือค้ำสัญญาธนาคาร นอกจากนั้น อาจจะถูกขึ้นบัญชีดำ ในฐานะที่เข้าข่ายว่าเป็นผู้ทิ้งงานด้วย ทางเลือกแทบไม่มี ต้องเซ็นให้ได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ประมูลแล้วต้องทำ ขอให้ตั้งใจทำ เราก็ตั้งใจช่วย” อนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า หากไม่เซ็นสัญญา แล้วเปลี่ยนสัมปทาน รัฐก็ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นในการว่าจ้างรายอื่น ซึ่งกลุ่มรับสัมปทานเดิมก็ต้องชดใช้ส่วนต่าง ดังนั้น เมื่อยังต้องชดใช้ส่วนต่างอยู่แล้ว ก็ควรดำเนินการเอง ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมที่จะช่วยแก้ปัญหา ให้งานเดินหน้าไปได้ เพราะหากงานไม่เดินหน้า EEC ก็ไม่เกิด ส่งผลให้การลงทุนสน