กรุงเทพฯ 19 ก.ย. – “สนธิรัตน์” เตรียมเสนอตั้งประธานบอร์ด กฟผ.โดยเร็ว หลังการทำงานสะดุดและต้องเร่งตัดสินใจเรื่องการนำเข้า LNG ที่ “ปิโตรนาส” ชนะประมูล ด้านผู้ว่าฯ กฟผ.ออกแถลงการณ์ถึงพนักงาน แจงบอร์ด กบง.ยังไม่ยกเลิกนำเข้า แต่ให้เจราจากับปิโตรนาสก่อน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในส่วนของคณะกรรมการหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด ทั้ง บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่อย่างใด แต่มีนโยบายประเมินผลการทำงานที่จะมีเกณฑ์วัดผลการปฏิบัติงานเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดการทำงานที่ดีที่สุด โดยในส่วนของ กฟผ.จะพยายามเร่งรัดนำเสนอการแต่งตั้งนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการ กฟผ. แทนนายดิสทัต โหตระกิตย์ ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทันภายในวันที่ 24 กันยายนนี้ รวมถึงการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการบริหารงานด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ กฟผ.ได้เปิดประมูลนำเข้าไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปีนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอผลการเจรจาของ กฟผ.กับปิโตรนาส LNG จากประเทศมาเลเซียที่เป็นผู้ชนะประมูลก่อนว่าจะมีผลสรุปเป็นอย่างไร โดย กฟผ.ต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กฟผ. และรายงานสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ตนเป็นประธานอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจากช่วงนี้ยังไม่ทราบผลหารือ กบง. จึงให้ กฟผ.สามารถทดลองนำเข้าราคาตลาดจร (Spot) ไม่เกิน 2 ลำเรือ หรือ ราว 180,000 ตัน
ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการนำเข้าแอลเอ็นจี ฉบับที่ 2 วานนี้ (18 ก.ย.) ระบุว่าตามที่ผู้ปฏิบัติงานมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับแผนการนำเข้า LNG ของ กฟผ.นั้น ผู้บริหาร รับทราบและไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อวันที่ 18 กันยายน ทีมผู้บริหารได้เข้าเรียน รมว.พลังงาน ชี้แจงความก้าวหน้าแผนการนำเข้าพร้อมแจ้งถึงความห่วงกังวลของผู้ปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าว
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้รับทราบข้อมูลพร้อมให้แนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วย ให้ กฟผ.จัดหา LNG แบบ Spot ปริมาณไม่เกิน 200,000 ตัน สำหรับการทดสอบระบบส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติให้เสร็จโดยเร็ว และไม่ยกเลิกแผนการนำเข้า LNG ของ กฟผ. โดยมอบหมายให้ กฟผ.ไปเจรจาหารือกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้สามารถดำเนินการนำเข้าในปริมาณและช่วงเวลาที่เหมาะสมโดยเร็ว. – สำนักข่าวไทย