ทำเนียบฯ 16 ก.ย. – นายกรัฐมนตรีแนะนักอุตสาหกรรมไทย ปรับตัวรองรับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ยืนยันทุนสำรองระหว่างประเทศ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐมั่นคง จึงทำให้เงินบาทแข็งค่า
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2562 หรืองาน The Prime Minister’s Industry Award 2019 ว่า ต้องการให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมาย เพื่อยกระดับจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศมีรายได้สูง ขอให้พัฒนาสินค้ามีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนด มีความใส่ใจต่อผู้บริโภค ช่วยกันดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ปราศจากมลภาวะ เพราะขณะนี้รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อนนโยบายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรม พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve
จึงต้องการส่งเสริมการทำตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยสู่สากล การพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ร่วมกันเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และชุมชน โดยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในพื้นที่ระดับภาค มุ่งเน้นยกระดับสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ความสำคัญดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย พลังงาน และการบูรณาการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแบบครบวงจร รัฐบาลต้องการเชื่อมระบบฐานข้อมูล (BIG DATA) รวมข้อมูลทั้งด้านการอนุมัติ อนุญาต การทำธุรกิจ การบริการ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเชิงลึกรองรับระบบงานในโลกดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกกับธุรกิจยุคใหม่
“รัฐบาลไม่อยากให้เป็นกังวลว่าหุ่นยนต์ ไอทีจะเข้ามาแย่งงานแรงงานไทย เมื่อแรงงานคุณภาพดูแลไอทีได้ จะยกระดับไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจยุคดิจิทัลทุกฝ่ายต้องปรับตัว แม้แต่การดูแลเศรษฐกิจชุมชนยังต้องทำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่ในแต่ละภาค ยอมรับว่าเมื่อเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องจนทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อต่างชาติเชื่อมั่นเงินลงทุนจึงไหลเข้ามาย่อมส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจไทย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เอกชนเริ่มตื่นตัวพัฒนาตนเองเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการยกระดับความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 จึงได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งกลุ่มวิสาหกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เข้าถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนาบุคลากรให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งเร่งสร้างทักษะ ปรับปรุง และพัฒนาองค์ความรู้ พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21.-สำนักข่าวไทย