กรุงเทพฯ 16 ก.ย. – อธิบดีกรมชลประทานระบุระดับน้ำแม่น้ำมูลที่อุบลฯ ระบายออกแม่น้ำโขงได้ดี ทำให้ขณะนี้ต่ำกว่าตลิ่ง 12 เซนติเมตรแล้ว เร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำให้ครบตามแผน 260 เครื่อง
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาตรน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ M 7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมืองอุบลราชธานีอยู่ที่ 4,920 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวานนี้ (15 ก.ย.) ซึ่งอยู่ที่ 5,130 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนระดับน้ำสูง 10.73 เมตร ลดลงจากเมื่อวานนี้ อยู่ที่ 10.88 เมตร ลดลง 7 เซนติเมตร ขณะนี้ระดับน้ำฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานีต่ำกว่าตลิ่ง 12 เซนติเมตรแล้ว ส่วนฝั่งอำเภอวารินชำราบเป็นพื้นที่ต่ำยังมีน้ำล้นตลิ่ง ทั้งนี้ เป็นผลจากการเดินเครื่องผลักดันน้ำติดตั้งบริเวณแก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร 60 เครื่อง ส่วนอำเภอโขงเจียมแม่น้ำมูลจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงตามแผนนั้น จะติดตั้ง 200 เครื่อง เดินเครื่องแล้ว 150 เครื่อง อีก 50 เครื่องกำลังเร่งติดตั้ง อีกทั้งระดับแม่น้ำโขงต่ำกว่าหน้าเขื่อนปากมูลถึง 2.32 เมตร ลดลงจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 2.07 เมตร หากเดินเครื่องผลักดันน้ำ 260 เครื่องตามแผนจะผลักดันน้ำออกไปได้มาก สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำให้เร่งดำเนินการให้คลี่คลายอุทกภัยให้ได้ภายในสิ้นเดือนนี้
นายทองเปลว กล่าวถึงสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาว่า ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่อัตรา 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากการติดตามสถานการณ์น้ำเหนือจากสถานีวัดน้ำ C 2 จังหวัดนครสวรรค์ ลดลงตามลำดับ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าวันพรุ่งนี้อาจปรับลดการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงอีก 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะนี้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณคลองโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง อำเภอเสนาและผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำอยู่ที่ระดับตลิ่ง ไม่เอ่อล้นท่วมพื้นที่นอกคันกั้นน้ำแล้ว เมื่อพรุ่งนี้ปรับลดลงอีกน้ำจะต่ำกว่าตลิ่ง พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก่อนหน้านี้จึงสบายใจได้
สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้วมี 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ น่าน สุโขทัย ลำปาง อุตรดิตถ์ พิจิตร แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น มุกดาหาร สระแก้ว ชุมพร และระนอง ส่วนยังมีสถานการณ์น้ำท่วมรวม 13 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สกลนคร นครพนม ศรีสะเกษ พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก และตราด โดยจังหวัดตราดฝนตกหนักถึงหนักมากและสะสมอย่างต่อเนื่องวัดได้ 172 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่อำเภอเกาะช้างหลายจุดในเขตเทศบาลตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง ซึ่งกรมชลประทานได้สนับสนุนเครื่องจักร-เครื่องมือแก่ทางจังหวัดและท้องถิ่นเร่งระบายน้ำออกโดยเร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย