ประจวบคีรีขันธ์ 14 ก.ย.- “วราวุธ” ลงประจวบฯ เปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่อุทยานฯ กุยบุรี เป็นพื้นที่นำร่องของประเทศ ลดปัญหาชุมชนกับช้างป่า ควบคู่กับแผนอนุรักษ์สัตว์ป่า
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Kuiburi’s Elephant Smart Early Warning System) ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถือเป็นโมเดลในการเฝ้าระวังช้างป่าไม่ให้ออกมาสร้างความเสียหายกับพืชไร่ของเกษตรกร แก้ปัญหาระหว่างคนกับช้างด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารร่วมกับการใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) และพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) ในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนแบบทันทีทันใด (Real Time) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่า โดยมีการบันทึกภาพช้างป่า รวมถึงความเคลื่อนไหวต่าง ๆ กล้องทุกตัวจะส่งภาพต่อไปยังระบบประมวลผลกลาง ผ่านสัญญาณเครือข่ายของระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เข้ามาในศูนย์เฝ้าระวังช้างป่า ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี คอยติดตามความเคลื่อนไหวผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบความเคลื่อนไหวของช้างป่าจะออกนอกป่ามุ่งหน้ามาในพื้นที่เกษตรกรรมหรือชุมชน เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ก็จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลพิกัดจุดช้างป่าแจ้งชุดลาดตระเวนเร่งผลักดันให้ช้างกลับเข้าป่าได้ทันที
นายวราวุธ กล่าวว่า จากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพบริเวณพื้นที่ป่าก่อนถึงพื้นที่เกษตรกรรมของราษฎร 25 จุด เพื่อแจ้งเตือนข้อมูลผ่านศูนย์ดังกล่าว มีรายงานข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 จนถึงปัจจุบัน รวม 10 เดือน กล้องสามารถบันทึกภาพช้างป่าได้ 518 ครั้ง รวม 1,826 ภาพ ช่วยลดปัญหาช้างป่าเข้ามาพื้นที่เกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี โดยมีพื้นที่เกษตรกรรมที่เกิดความเสียหายเพียง 27 ครั้ง ซึ่งกระทรวงฯ จะนำโมเดลการแก้ปัญหาดังกล่าวไปเป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ต่อไป
ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า หากเทียบจากข้อมูลเชิงสถิติในพื้นที่เฝ้าระวังช้างป่าก่อนมีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติในช่วงเวลาเดียวกัน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560 ถึง สิงหาคม 2561 พบช้างป่าออกมาทำลายพืชผล ทางการเกษตรของราษฎรถึง 628 ครั้ง และพบความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร 217 ครั้ง แสดงให้เห็นผลสำเร็จจากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ เชื่อว่า โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและชุมชนในพื้นที่ได้ ควบคู่กับส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองช้างป่า ซึ่งเป็นสัตว์ป่าอนุรักษ์สำคัญของประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย